1

“ยานเกราะล้อยาง BWS 8×8” ประโยชน์ทั้งต่อชาติ และประชาชน

DSCF6767RRR

ยานเกราะ คือ พาหนะล้อหรือสายพานที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันตนเองจากอาวุธยิงเล็งตรงหรืออาวุธยิงเล็งจำลอง และป้องกัน อันตรายจากวัตถุระเบิดหรือป้องกันอันตรายจากนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี ในระดับหนึ่ง ความพิเศษของยานเกราะล้อยาง ผลงานวิจัยล่าสุดจาก DTI คันนี้คือ เป็นยานเกราะล้อยางขับเคลื่อน 8×8 ล้อ คันแรกของไทย ในชื่อรุ่นว่า Black Widow Spider (BWS) ซึ่งยานเกราะคันนี้สร้างประโยชน์ทั้งต่อประเทศชาติ รวมถึงต่อภาคประชาชนพลเรือนหลายประการ ดังนี้
● ไทยเป็น‘เจ้าของเทคโนโลยีป้องกันประเทศ’เอง
ในภาพรวมนอกจากประเทศจะมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว การผลิตยุทโธปกรณ์ได้เองในประเทศช่วยสร้างโอกาสการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ลดปัญหาด้านการซ่อมบำรุงและการจัดหาอะไหล่ที่ต้องพึ่งพิงจากประเทศที่เราซื้อเทคโนโลยี การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองทำให้เราสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้สะดวกเพราะผู้ผลิตคือคนไทย อีกทั้งกองทัพได้ภาพลักษณ์ที่ดีในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทย ก่อให้เกิดการจ้างงาน มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงอาจจะสร้างรายได้เข้าประเทศในกรณีที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย
● ยานเกราะล้อยาง 8×8 สุดยอดเทคโนโลยียานยนต์
DTI ได้วางแนวคิดของยานเกราะล้อยาง BWS 8×8 ให้เป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อน 8×8 ล้อ เคลื่อนที่ได้ทั้งในน้ำและบนบก ติดตั้งป้อมปืนได้ถึงขนาด 30 ม.ม. และมีกล้องตรวจการณ์รอบคันรถ และตัวเกราะกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานนาโต้ STANAG 4569 ระดับ 4 คือ 1)ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กทุกขนาด 2)ทนทานต่อกระสุนปืนกลหนักขนาด 14.5 x 114 ม.ม. หรือ 0.57 คาลิเบอร์ ที่ยิงระยะ 200 เมตร 3)ทนต่อแรงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. ที่ตกระยะ 30 เมตร และ 4)ทนทานต่อแรงทุ่นระเบิดขนาด 10 กก.
ยานเกราะ 8×8 สามารถรองรับผู้ปฏิบัติภารกิจได้ 13 คน คือ พลขับ 1 คน ผู้บังคับการรถ 1 คน และกำลังทหารอีก 11 คนหรือ 1 หมู่ปืนเล็ก โดยพลขับจะทำหน้าที่ขับรถ ส่วนผู้บังคับการรถจะอำนวยการปฏิบัติงานและทำงานกับระบบอาวุธ และหมู่ปืนเล็ก 1 หมู่ จะเป็นกองกำลัง ที่เมื่อยานเกราะพามายังจุดที่กำหนดแล้ว ทหารทั้ง 11 นาย จะลงเดินเท้าเข้ายึดที่หมายโดยได้รับการสนับสนุนจากยานเกราะ นอกจากนี้ สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบ เช่น ยานบัญชาการ ยานฐานยิงปืนครก ยานพยาบาล และยานกู้ซ่อม เป็นต้น
● เตรียมพัฒนายานเกราะสู่เวทีอาเซียน
ปัจจุบัน ความก้าวหน้าด้านยุทธยานยนต์ของไทยเรียกว่ายังอยู่ในระดับกลาง เพราะประเทศผู้นำในอาเซียนคือสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ประเทศเหล่านี้มีความพร้อมในเรื่องการออกแบบและผลิตยุทธยานยนต์ด้วยตนเอง หรือสามารถซื้อแบบยุทธยานยนต์จากต่างประเทศมาผลิตเองได้เป็นส่วนใหญ่และสนองตอบความต้องการของกองทัพนำไปใช้งาน สำหรับไทยสามารถผลิตยุทธยานยนต์ได้ในส่วนยานยนต์สนับสนุน เช่น รถบรรทุกทางทหาร รถยนต์บรรทุกขนาดเบา แต่ก็มีบริษัทเอกชนในประเทศที่สามารถผลิตยานเกราะล้อยาง 4 x 4 ส่งออกไปยังต่างประเทศได้แล้ว ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมงานวิจัยพัฒนายุทธยานยนต์สู่นานาประเทศ
ยานเกราะล้อยาง นอกจากจะสร้างความมั่นคงด้านยุทธยานยนต์ป้องกันประเทศแล้ว ยังสามารถสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนที่มีความชำนาญในการผลิตยานเกราะ ก็กำลังสร้างมาตรฐานงานผลิตยุทธยานยนต์นี้ เพื่อสนองต่อความต้องการใช้ในประเทศ และยังมองถึงการส่งออกในอนาคต ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นนอกจากประเทศจะได้ประโยชน์ในเรื่องความมั่นคงแล้ว ประชาชนยังได้รับอานิสงส์จากการมีอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนี้ด้วย