1

‘ม.ศรีปทุม’จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2561

มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2561 แก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน และ วิทยาเขตขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต และนายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม ประจำปีการศึกษา 2561 (จำนวน 2 วัน) ให้แก่บัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบัญชี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ (วันแรก) คณะศิลปศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ คณะดิจิทัลมีเดีย และ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น จำนวน 8 คณะ (วันที่สอง ภาคเช้า) และวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน คณะนิเทศศาสตร์ (วันที่สอง ภาคบ่าย) โดยมี ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวรายงานกิจการของมหาวิทยาลัย ณ ห้องบัวหลวงแกรนด์รูม อาคาร ดร.สุข พุคยาภรณ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กทม.(บางเขน) ระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในงานวันรับปริญญาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีปทุม อีกครั้งหนึ่งในวันนี้. ก่อนอื่น ผมขอแสดงความชื่นชมยินดี ต่อบัณฑิตทุกคนที่ได้ขวนขวายบากบั่นศึกษาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยได้รับอนุมัติให้เปิดสอนจนกระทั่งประสบความสำเร็จด้วยดี. นับจากนี้ต่อไป บัณฑิตทุกคนก็จะต้องก้าวเดินต่อไปตามเส้นทางชีวิตที่ตนเองได้เลือกไว้เพื่อให้ตนเองก้าวหน้าจนบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้
ในการก้าวเดินต่อไปนี้ บัณฑิตทุกคนก็จะต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ต้องต่อสู้แก้ปัญหาของชีวิตจริงและต้องพยายามที่จะพัฒนาตนเองต่อไปตามลำพัง ในอดีตสี่ปีที่ผ่านมานั้น บัณฑิตซึ่งยังคงเป็นนักศึกษาอยู่นั้นได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ตามที่อาจารย์ได้ค้นคว้าศึกษามาสอนให้ตรงตามหลักสูตรที่กำหนดไว้เมื่อนักศึกษาไม่เข้าใจในเนื้อหา นักศึกษาก็อาจจะเข้ามาขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำเพิ่มเติมและชี้แนะวิธีการเรียนให้เข้าใจได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น นักศึกษาได้เข้ารับการทดสอบความรู้ต่อเนื่องมาโดยตลอด การทดสอบที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเสมือนการฝึกซ้อมที่จะแก้ปัญหาในชีวิตจริงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ปัญหาในข้อสอบนั้นเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ของจริง หากนักศึกษาแก้โจทย์ผิดผลกระทบก็ยังไม่ได้รุนแรงมากเหมือนกับการแก้ปัญหาในชีวิตจริง ตั้งแต่นี้ต่อไปบัณฑิตจะต้องแก้ปัญหาของชีวิตจริง ซึ่งหากบัณฑิตแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ หรือแก้ผิดแล้ว บัณฑิตก็จะเกิดประสบปัญหาขัดข้องเป็นอย่างมาก
ดังนั้นผมจึงอยากจะฝากไว้เป็นโอกาสสุดท้ายของชีวิตการเรียนของบัณฑิตในที่นี้ว่า การเรียนของพวกคุณยังไม่จบสิ้น อันที่จริงแล้ว บัณฑิตทุกคนกำลังเริ่มต้นเรียนกันใหม่ด้วยซ้ำไป แต่เป็นการเรียนด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครช่วยหาความรู้มาป้อนให้พวกคุณ ที่ยากยิ่งขึ้น คือ คุณเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเรียนวิชาอะไร มีเนื้อหาอะไร มีทฤษฎีอะไร และจะเรียนรู้จากใคร บัณฑิตรู้แต่เพียงว่าจะต้องเรียนรู้มากขึ้น แต่เมื่อไม่รู้ว่าจะต้องเรียนอะไร เราก็เลยรู้สึกท้อถอย และ ไม่สนใจจะเรียนรู้อีก สุดท้ายบัณฑิตก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการงาน เพราะความรู้ที่เคยเรียนมานั้นล้าสมัยไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจะเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเองได้ถูกจุด ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงขอบรรยายให้ฟังย่อๆ ว่า เรื่องที่พวกคุณจะต้องเรียนเพิ่มเติมนั้นมีประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การเรียนที่จะตั้งคำถามที่ถูกต้องต่อไปนี้
– คุณต้องเรียนรู้ว่า งานที่คุณทำนั้นคืองานอะไร มีวัตถุประสงค์อะไร มีขั้นตอนอะไร ทำแล้วได้อะไร เกี่ยวข้องกับใครอย่างไร และ จะวัดผลงานได้อย่างไร?
-คุณต้องเรียนรู้ว่า คุณจะวางแผนและบริหารจัดการงานต่างๆ ของคุณให้สำเร็จและได้ผลตามที่หัวหน้างานของคุณต้องการได้ตลอดเวลาได้อย่างไร?
-คุณต้องเรียนรู้ว่า คุณจะสื่อสารและท างานร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณได้อย่างไร ทั้งกับผู้บริหาร, หัวหน้า, เพื่อนร่วมงาน, ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา, ลูกค้า, คู่ค้า, รวมทั้งกับคนในครอบครัวของคุณด้วย.
-คุณต้องเรียนรู้ว่า การทำงานของคุณนั้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอะไร และ ใช้อย่างไรบ้าง และคุณจะใช้ดิจิทัลนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อคุณมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร
-คุณต้องเรียนรู้ว่า งานของคุณมีความเสี่ยงอะไรบ้าง และความเสี่ยงนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอะไรได้บ้าง และ คุณจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร.
-คุณต้องเรียนรู้ว่า งานของคุณนั้นตกอยู่ใต้กฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือ กฎหมายอะไรบ้าง การทำงาน
แบบใดที่ไม่ถูกต้องและจะทำให้เกิดปัญหาต่อตัวเราและต่อหน่วยงานของเราได้
-คุณต้องเรียนรู้ว่า งานแบบที่เราทำนั้น มีใครที่เก่งบ้าง เขาเก่งอย่างไร และ เราจะเรียนรู้จากเขาได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่ามีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มากเหลือเกิน. เรื่องนี้จริงแท้แน่นอน. แต่อย่าเพิ่งท้อถอยเพราะชีวิตทุกคนก็ต้องวนเวียนแต่กับเรื่องนี้ และ บังเอิญเป็นเรื่องที่ไม่มีสอนในหลักสูตรด้วย. อย่างไรก็ตามเราไม่ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ในหนึ่งเดือนหรือในหนึ่งปี แต่เราจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต. ดังนั้น เราต้องพยายามเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เรียนวันละน้อย. เคล็ดลับก็คือ เมื่อเราได้เรียนรู้แล้ว เราจะต้องเก็บความรู้เหล่านี้เอาไว้ในคลังความรู้ของตัวเรา เพื่อให้เราสามารถน าความรู้เหล่านี้มาใช้ปฏิบัติและแก้ปัญหาได้ในฉับพลัน.เราจะเก็บความรู้ไว้ได้อย่างไรนั้น ก็เป็นความรู้อีกประเด็นหนึ่งที่พวกคุณจะต้องเรียนรู้เอง.
ทำไมเรื่องที่ผมนำมาบอกเล่าจึงสำคัญ. คำตอบก็คือ เรื่องเหล่านี้คือบันไดสำคัญสำหรับก้าวไปสู่ความสำเร็จ. ไม่ว่าพวกคุณจะสำรวจชิวิตของใคร ไม่ว่าจะเป็นแจ๊ค หม่า, สตีพ จ๊อบส์, หรือ แม้แต่ CEO ชาวไทยที่เป็นมหาเศรษฐีทั้งหลาย เมื่อวิเคราะห์ให้ดีแล้ว ก็จะพบว่าความสำเร็จของท่านเหล่านี้ก็อยู่ที่ประเด็นที่ท่านได้เรียนรู้เหล่านี้นั่นเอง. สุดท้ายนี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิ่ทธิ์ทั้งหลายที่บัณฑิตเคารพนับถือ ได้ดลบันดาลให้บัณฑิตทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวเดินไปสู่ชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และตื่นรู้ ตลอดไปเทอญ.