ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ Mr.Ciaran Lally ประธานบริหารภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค พร้อมด้วยนางสาวศุภมาส วงษ์สูง ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย บริษัท DynEd International , Inc. เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ตาม “กรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) ” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารวิทยบริการและบริหาร
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ปิยวิทย์ เหลืองอร่าม ผู้อำนวยการสถาบันบริการวิชาการทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวถึงความเป็นมาว่า ปัจจุบันกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป” หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป และได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะเห็นได้จากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยที่กำหนดนโยบายในการพัฒนาความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของเยาวชนไทย โดยเทียบเคียงผลกับกรอบมาตรฐาน CEFR ของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เนื่องจากกรอบมาตรฐาน CEFR มุ่งเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ จึงถูกนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในหลาย ๆ ประเทศ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
สำหรับ บริษัท DynEd International , Inc. เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตแพลตฟอร์มแบบทดสอบและหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยใช้เทคโนโลยี Big Data และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มานานกว่า 30 ปี ในการนำแอพลิเคชันแบบทดสอบและสื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐาน CEFR ของทาง DynEd มาประยุกต์ใช้ในการวัดผลและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการทดสอบ วัดผล และพัฒนาทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษแก่ประชาชนและบุคคลทั่วไป ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัย
ด้าน ผศ. วุฒิศักดิ์ อธิการบดี ม.ร. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท DynEd ซึ่งเป็นบริษัทด้านการศึกษาชั้นนำของโลก ในการพัฒนาทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นทักษะความสามารถพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยยังคงรักษาความมุ่งหมายในการเปิดโอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ดั่งวิสัยทัศน์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่จะส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน มีความยืดหยุ่น และความหลากหลายในการปฏิบัติ ประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำความรู้สู่ปวงชน และมีความเป็นสากล โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาทักษะและการทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษ ตามกรอบมาตรฐาน CEFR ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี Big Data และ AI ที่มีความชาญฉลาดในการปรับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในแพลตฟอร์มของบริษัท
DynEd นี้ ดังความสำเร็จที่ปรากฎในประเทศที่ได้นำแพลตฟอร์มของบริษัท DynEd ไปพัฒนาบุคลากรในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ตุรกี เวียดนาม อินโดนีเซีย ศรีลังกา มาเลเซีย เมียนมา และอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มหาวิทยาลัยมั่นใจในความร่วมมือกับบริษัท DynEd ที่จะทำให้มาตรฐานการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยก้าวไกลสู่สากล เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะความสามารถทางภาษาที่สอดคล้องกับทิศทางการจัดการศึกษาสมัยใหม่ มุ่งสู่การเป็น“ตลาดวิชาแบบดิจิทัล” ในอนาคต