1

มแพทย์ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว จากหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ออกตรวจรักษาสุขภาพชาวกะหร่าง บ้านโป่งลึก เพชรบุรี , บ้านป่าหมาก ประจวบฯ พื้นที่ในแผนพัฒนาชบนทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ

ทีมแพทย์จากศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)         ลงพื้นที่ในการออกหน่วยแพทย์พระราชทานในโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี        ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านโป่งลึก ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 26 – 29 พฤษภาคม 2556  พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ากะหร่าง สายเลือดไทย และมีพื้นที่ทำกินและบ้านเรือนตั้งอยู่สูงกว่าระดับแม่น้ำ (ต้นแม่น้ำเพชร) ซึ่งเป็นหนึ่งของพื้นที่ในโครงการพระราชดำริมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จึงเป็นพื้นที่ที่เริ่มได้รับการพัฒนาทางด้านการเกษตรจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทำให้ปัจจุบันมีการดำเนินการจัดทำระบบน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค  ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำไร่  ทำนา ซึ่งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของระบบไฟฟ้า แต่ก็มีการพัฒนานำระบบโซล่าร์เซลล์มาใช้ในบางส่วนของพื้นที่

25

การออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ครั้งนี้ นำทีมโดย นายชัชวาล  พรธาดาวิทย์  รองผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ  ได้จัดทีมแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมกว่า 30 คน ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และบริการด้านทันตกรรม ถอนฟัน ขูดหินปูน แก่ชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจสุขภาพร่างกายและสุขภาพฟันแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา รวมถึงการให้สุขศึกษาความรู้เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะความสะอาดของมือที่เป็นจุดเริ่มต้นของสุขอนามัยที่ดีแก่นักเรียนทั้งสองแห่ง ทั้งนี้ มีชาวบ้านมารับบริการ รวม 194 คน นักเรียน 294 คน และจากการสอบถามประชาชน ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ พบว่าหากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นจากสถานีอนามัยในหมู่บ้าน หรือถ้ามีอาการเจ็บป่วยมาก จะได้รับการนำส่งไปยังโรงพยาบาลในเมือง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ดูแลรักษาพื้นที่นั้นๆ และเนื่องจากพื้นที่ทั้งสองแห่ง เป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชนเพียงแค่ 35 – 40 กิโลเมตร ซึ่งดูเหมือนไม่ห่างไกลนัก แต่การเดินทางยามลำบาก ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เพราะถนนเลียบตามแนวไหล่เขาและเป็นดินลูกรังคดเคี้ยว มีเนินขึ้นลงและสูงชันสลับกัน บางช่วงต้องผ่านห้วยน้ำลำธาร การเดินทางจึงจำเป็นต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้อย่างเดียว ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยาก ประกอบกับพบปัญหาด้านการสื่อสาร จึงเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

[nggallery id=140].

ทีมแพทย์จำนวน 3 ท่าน ที่เข้าร่วมออกตรวจรักษา ประกอบด้วย นพ.ชัชพล  วทัญญูทวีวัฒน์ (นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต) , พญ.อัญญา  เวียรศิลป์ (นิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) , และ พญ.นภมณฑ์  ศุภรพันธ์  (นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ซึ่งแพทย์ทั้งสามท่านเป็นแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2 ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ  พบว่า ประชาชนชาวบ้านที่มารับบริการตรวจรักษาทั้ง 2 พื้นที่ ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และพบปัญหาของสุขภาพฟัน โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน และในส่วนของโภชนาการได้เก็บข้อมูลด้านโภชนาการของกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุแรกเกิดจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนหมู่บ้านละ 25 คน  พบว่า  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็ก  เนื่องจากขาดการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับ นม ผักใบเขียว และธัญพืช ซึ่งภาวะขาดธาตุเหล็กนี้จะนำไปสู่การเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากร่างกายสร้างเฮโมโกลบินได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีความต้านทานโรคต่ำ เปลือกตาขาวซีด ลิ้นอักเสบ เล็บบางเปราะ ซึ่งการจะส่งเสริมให้เด็กและประชาชนได้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นั้นเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มชาวป่าชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลนี้  เนื่องจากพวกเขาไม่มีอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้  ดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืชผัก จับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ  และสัตว์ป่าที่พอจะหาได้ นำมาทำอาหารบริโภค บางครัวเรือนมีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ก็ยังพอมีไข่และเนื้อสัตว์บริโภค  แต่ส่วนใหญ่อาหารประจำที่รับประทานทุกวันคือข้าว ผัก และเนื้อปลา

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ในครั้งนี้ ทำให้ทุกๆ คนในทีมได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่ทรงมีแนวพระราชดำริและปฏิบัติต่อกันมาทุกพระองค์ ที่ทรงดูแลห่วงใยและพัฒนาประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นทีสังคมชนบทห่างไกลความเจริญ ให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนที่ขาดโอกาส ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ภูมิภาค โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ฉะนั้น พวกเราชาวโรงพยาบาลชลประทานจึงขอร่วมสนองพระราชดำริ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตามภาระงานด้านสุขอนามัย แม้จะได้ไม่มากน้อยก็ตาม แต่ขอเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะแบ่งปันสิ่งที่ดีให้แก่เพื่อนมนุษย์