มูลนิธิเอสซีจี จัดงานประกาศผล Young Thai Artist Award 2016 พร้อมชวนชมนิทรรศการพิเศษ “เทิดไท้อัครศิลปิน ร้อยศาสตร์ศิลป์แห่งความภักดี”

0
309
image_pdfimage_printPrint

“งานด้านการศึกษาศิลปวัฒนธรรม นั้น คือ งานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญา และทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆ ทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทย ได้สืบไป” ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ วังท่าพระ วันที่ 12 ตุลาคม 2513
มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะ และความสำคัญของเยาวชน จึงได้ดำเนินโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านศิลปะถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี โดยการประกวดนี้ได้ชื่อว่าเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่ได้เจียระไนเพชรเม็ดงามประดับวงการศิลปะไทย
และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะในฐานะองค์อัครศิลปินซึ่งเป็นพระราชสมัญญาที่ปวงชนชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวาย มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมกับศิลปินและยุวศิลปินจัดนิทรรศการและการแสดงพิเศษ “เทิดไท้อัครศิลปิน ร้อยศาสตร์ศิลป์แห่งความภักดี” เพื่อแสดงพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระองค์ผ่านผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าทั้งในด้านทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ ซึ่งตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศิลปะและศิลปิน ทรงดำรงพระองค์ในฐานะองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวัฒนธรรมไทย ทรงศึกษาค้นคว้า และทรงสร้างสรรค์ผลงานด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เริ่มมีผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวนมาก ต่อมาจึงได้ทรงงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ เรือใบฝีพระหัตถ์ และพระราชนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถเป็นเลิศในสรรพศิลป์ทั้งปวง เหล่าศิลปินจึงพร้อมใจเทิดพระเกียรติในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ผ่านผลงานศิลปะ เพื่อบอกเล่าถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “การจัดนิทรรศการพิเศษในครั้งนี้ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของศิลปินและยุวศิลปินทุกคนที่ล้วนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อวงการศิลปะไทย สำหรับมูลนิธิเอสซีจี เราได้น้อมนำพระบรมราโชวาทในการส่งเสริมศิลปะมาเป็นแนวทางในการสนับสนุนเยาวชนไทยมากว่า 1 ทศวรรษ ผ่านโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ และหน่วยงานที่ทำงานด้านศิลปะ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำให้น้องๆ เยาวชนตื่นตัวในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยปีนี้มีผู้ร่วมส่งผลงานเข้าชิงชัยกว่า 415 ชิ้น และได้รับการคัดเลือกจนเหลือ 36 ชิ้น ซึ่งผลงานเหล่านี้จะร่วมแสดงในนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ”
มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และยังคงสร้างมาตรฐานการประกวดด้านศิลปะในประเทศให้มีระดับสูงทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งทุกผลงานได้รับการการันตีคุณภาพจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศกว่า 80 ชีวิต อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศาสตราจาย์เดชา วราชุน รองศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ ครูสังคม ทองมี อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง และคุณนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นต้น โดยในปีนี้มีผลงานยอดเยี่ยมทั้ง 6 สาขาจากฝีมือสร้างสรรรค์ของเยาวชนไทย ที่ได้รับการยอมรับว่าเปี่ยมเสน่ห์ มีอัตลักษณ์ โดดเด่นด้วยพลังสร้างสรรค์ ดังนี้

• ศิลปะ 2 มิติ (Two-Dimensional Art) ได้แก่ ลันชฺ (LUNCH)
โดย นายกัณฑ์อเนก ตรีธารทิพย์เลิศ
กรรมการสาขาศิลปะ 2 มิติ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงานชิ้นนี้แสดงวัฒนธรรมพื้นๆ ของวิถีชิวิตสังคมไทยปัจจุบัน ศิลปินเจ้าของผลงานมีฝีมือสูงสามารถตอบสนองความคิดได้อย่างชัดเจน”

• ศิลปะ 3 มิติ (Three-Dimension Art) ได้แก่ เมื่อฉันมองออกไป (When look out)
โดย นายอภินันท์ อินทกูล
กรรมการสาขาศิลปะ 3 มิติ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่มีความสอดคล้องระหว่างความคิดและรูปทรงที่สัมผัสกันอย่างลงตัว จากความคิดในวัยเด็กที่เห็นสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมีขนาดใหญ่และเมื่อเติบโตขึ้น สิ่งที่เห็นกำลังจางหายไป ความชัดเจนของสิ่งแวดล้อมที่เห็นมีความเป็นจริงและสมบูรณ์มากขึ้น และความเป็นวัสดุที่ใช้สร้างสรรค์ของเนื้อไม้ที่มีการเข้าลิ่ม เข้าเดื่อยไม้ได้อย่างลงตัวและแข็งแรง”

• ภาพถ่าย (Photography) ได้แก่ จักรวาลในโหลแก้ว (Aquarium)
โดย นายหฤษฎ์ ศรีขาว
กรรมการสาขาภาพถ่าย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมว่า “มุมมองและเทคนิคที่อาศัยการเลือกจังหวะ เวลา พื้นที่ ทำให้เห็นสภาวะทางความคิดที่มีต่อความทรงจำ ความสามารถนำเสนอภาพที่มีการใช้ภาษาเชิง Poetic Value ที่กระตุ้นจินตนาการผ่านภาพถ่ายในรูปลักษณ์ของความเหนือจริง ผลงานนำเสนอวิธีการอุปมาอุปไมยที่พยายามอธิบายถึงเนื้อหาที่เป็นเรื่องความทรงจำโดยการใช้วิธีการทับซ้อน จักรวาล ดวงดาว ท้องฟ้า ที่เชื่อมโยง คือ เวลา ระยะทาง บนภาพปรากฏของเด็กๆ กับสถานที่ (โรงแรมม่านรูด) ภาพเชื่อมโยงคือความคิดและความรู้สึกขัดแย้งและคลุมเครือในความไร้เดียงสาของเด็กๆ กับความเป็นสถานที่ ชุดนี้สามารถนำเสนอความสามานย์ของพื้นที่กับความ ไร้เดียงสา”

• ภาพยนตร์ (Film) ได้แก่ 83 ซอยศูนย์วิจัย 14
โดย นายธีร์ธวัช ใต้ฟ้ายงวิจิตร
กรรมการสาขาภาพยนตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมว่า “เรื่องนี้ถือได้ว่ามีความ โดดเด่นในแง่ของไอเดียในการนำเรื่องในครอบครัวมาถ่ายทอดด้วยวิธีการทางภาพยนตร์ได้ดีเยี่ยมทั้งในแง่ของการเล่าเรื่องด้วยภาพ บทภาพยนตร์และการถ่ายทอดด้วยภาพ แสดงให้เห็นว่าผู้สร้างได้ใช้ความรู้ ปัญญา ความเข้าใจในศิลปะภาพยนตร์และถ่ายทอดออกมาได้อย่างปราดเปรื่องและลึกล้ำทางความคิด”

• การประพันธ์ดนตรี (Music Composition) ได้แก่ สตริงควอเตท หมายเลข 0
โดย นายวิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ
กรรมการสาขาการประพันธ์ดนตรี ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงาน String Quartet No.0 ของวิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ มีจุดเด่นในการออกแบบโครงสร้างที่ใช้ความหลากหลายในลีลาและน้ำหนักที่ต่างกันของคีตลักษณ์ ทำให้มีความโดดเด่นกว่าชิ้นอื่นและสามารถดึงดูดความสนใจของกรรมการโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผลงานยอดเยี่ยม”

สำหรับในปีนี้ ไม่มีผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม
มูลนิธิเอสซีจียังคงมุ่งพัฒนาศักยภาพและความสามารถของเยาวชนอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง โดยนอกจากยุวศิลปินผู้รับรางวัลยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัล 150,000 บาท แล้ว ยังมีโอกาสได้เดินทาง ทัศนศึกษาสัมผัสศิลปะระดับโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ เพิ่มพูนทักษะความรู้ทางศิลปะ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานศิลปะต่อไปในอนาคต และสำหรับผู้ได้รับรางวัลดีเด่นได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

และเพื่อเป็นเกียรติประวัติของน้องๆ ยุวศิลปินไทยทั้ง 6 สาขาที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่สมเป็นเลือดใหม่แห่งวงการศิลปะไทย ให้ประชาชนชาวไทยได้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีโอกาสชื่นชมความงดงามของศิลปะ มูลนิธิฯ จึงได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานยอดเยี่ยมและผลงานดีเด่นโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ร่วมกับนิทรรศการพิเศษ “เทิดไท้อัครศิลปิน ร้อยศาสตร์ศิลป์แห่งความภักดี “ ณ ห้องนิทรรศการ 1 – 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่าง วันอาทิตย์ที่ 4 – วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2559 เวลา 9.00 – 16.00 น. (หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 586 5214 หรือ www.scgfoundation.org และร่วมติดตามความคืบหน้าได้ที่www.facebook.com/YoungThaiArtistAward