1

มูลนิธิเอสซีจีแจ้งเกิดยุวศิลปินไทยเลือดใหม่ โครงการรางวัล Young Thai Artist Award รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“การสร้างสรรค์งานศิลปะ ว่าต้องประกอบขึ้นจากความรู้ความเข้าใจในศิลปะอย่างถ่องแท้ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติและความรักในสิ่งที่ทำ แต่เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะนึกถึงคุณสมบัติ อีกอย่างหนึ่ง คือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งน่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้แท้จริง จึงขอให้ทุกคนพิจารณาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แล้วตั้งใจพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อม ที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะอันงดงาม และทรงคุณค่า เพื่อสืบสานจรรโลงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป” ความตอนหนึ่งในพระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประจำปีการศึกษา 2559
มูลนิธิเอสซีจีองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นเรื่องการพัฒนาคน และตระหนักถึงการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะ จึงได้ริเริ่มโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award ขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านศิลปะถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี โดยถือเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมุ่งส่งเสริมให้ยุวศิลปินไทยได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความสามารถทางศิลปะแล้ว ยังสนับสนุนกิจกรรมอื่นอันจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพยุวศิลปินรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพเพื่อยกระดับวงการศิลปกรรมไทยเติบโตและได้รับการยอมรับในระดับสากล
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า การจัดแข่งขันในปีนี้ มีน้อง ๆเยาวชนที่มีหัวใจรักงานศิลปะจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 300 ชิ้นงาน และได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขา จนเหลือผลงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจำนวน 36 ชิ้นงานที่ได้รับรางวัล
“ปีนี้ทางมูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลยอดเยี่ยมแก่น้อง ๆ ยุวศิลปินทั้ง 6 สาขา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ถือเป็นเกียรติประวัติ เป็นขวัญ และกำลังใจให้กับเหล่ายุวศิลปินไทยอย่างสูงสุดที่จะได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในอนาคต ซึ่งโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยครั้งนี้ ยังคงสร้างมาตรฐานการประกวดด้านศิลปะในประเทศให้มีระดับสูงทัดเทียมกับนานาชาติ โดยทุกผลงานได้รับการการันตีคุณภาพจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ ที่ได้ให้เกียรติมาร่วม การตัดสิน รวมกว่า 70 ชีวิต อาทิ ศาสตราจาย์เดชา วราชุน อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง และคุณนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นต้น สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลเราจะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า และนิทรรศการพิเศษโครงการยุวศิลปินไทยสัญจร ณ หอศิลปะและการแสดงนครลำปาง บ้านบริบูรณ์ เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนได้สัมผัสถึงผลงานศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยพลังเชิงชั้นศิลปะที่มีอัตลักษณ์ของยุวศิลปินรุ่นใหม่” สุวิมล กล่าว
ยุวศิลปินเลือดใหม่เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมจากผลงานใน สาขาศิลปะ 2 มิติ อย่าง นายธีรวุฒิ คำอ่อน นิสิตคณะจิตกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงานปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า ปัจจุบันการบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการบูรณะในลักษณะทำรูปแบบใหม่แทนที่วัตถุเดิม การปรับปรุงจึงกลายเป็นการเปลี่ยนแปลง และทำให้คุณค่าของศิลปะอันล้ำค่านั้นลดลง
“ผมอยากถ่ายทอดเทคนิดผ่านภาพพิมพ์แกะไม้ในบรรยากาศนุ่มนวล โดยในภาพจะมีลักษณะเป็นเหมือนม่านบังฉากในการบูรณะ เพื่อสื่อถึงความหวังและตั้งคำถามในการบูรณะโบราณสถานว่าเป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง รางวัลยอดเยี่ยมที่ได้รับมีความหมายกับผมมาก เพราะเป็นผลงานชิ้นแรกที่ส่งเข้าประกวด และเป็นความภาคภูมิใจ กำลังใจที่จะทำงานด้านศิลปะต่อไป” ธีรวุฒิ กล่าว
ขณะที่นายอนิเทพ คูณทอง นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน สัมพันธ์ภาพของรูปทรง รางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะ 3 มิติ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า ตนต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของรูปทรงธรรมชาติกับรูปทรงเรขาคณิต ที่มีความแตกต่างกันในด้านรูปแบบ ซึ่งทั้งสองแบบนั้นมีความขัดแย้ง แต่เมื่อได้รังสรรค์ออกเป็นผลงานสามารถนำมารวมกันได้อย่างมีเอกภาพ
“แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนี้เกิดจากการนำสิ่งที่ขัดแย้งของคู่ตรงข้ามกันมาอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพและมีพลัง ซึ่งคู่ตรงข้ามมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ภาษา พฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความหลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างประสานกลมกลืน โดยการจัดองค์ประกอบของรูปทรงจะแสดงให้เห็นถึงพลังการเคลื่อนไหวของชิ้นงาน และโครงสร้างของรูปทรงมีความแข็งแรง มีเหตุผลในการยึดเกาะที่ดูแล้วมีพลัง” อนิเทพ กล่าว

ปิดท้ายที่รางวัลยอดเยี่ยมในสาขาวรรณกรรม ซึ่งตกเป็นของ น.ส.สุภาวดี เจ๊ะหมวก นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงาน ฉันเป็น ซึ่งมีมุมมองและแนวคิดจากสิ่งที่ได้ประสบมาตั้งแต่เกิด โดยนำมาถ่ายทอดผ่านภาษาและตัวหนังสือ
“การสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ คือการพยายามตั้งคำถามกับความเชื่อ และสะท้อนชีวิตผู้คนที่พบเห็นในบ้านเกิดของตนเอง บางอย่างเกิดขึ้นทุกวันจนถูกมองข้าม ซึ่งส่วนตัวพยายามจะเขียนถ่ายทอดเพื่อให้ผู้อ่านคิดตาม และทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น รู้สึกดีใจที่คณะกรรมการประทับใจในผลงาน” สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถเป็นกำลังใจกับผลงานความคิดสร้างสรรค์ของน้องๆ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการผลงานยอดเยี่ยมและผลงานดีเด่นโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ได้ตั้งแต่วันนี้ – 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ 1-4 พิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ รวมถึงจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยสัญจร ครั้งที่ 1 ณ หอศิลปะและการแสดงนครลำปาง บ้านบริบูรณ์ จ.ลำปาง
ในระหว่างวันที่ 2-31 ธันวาคม ศกนี้ ถือเป็นอีกเวทีที่ร่วมเป็นกำลังใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ให้สร้างสรรค์ผลงานดี ๆ สู่วงการศิลปะไทย สืบต่อไป โดยมูลนิธิเอสซีจียังคงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะอย่างเต็มที่อันสะท้อนเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ในการถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและเชื่อมั่นในคุณค่าของคน