มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย จับมือกลุ่มจิตอาสาจัดโครงการ “เสียงสว่างนำทาง”

0
363
image_pdfimage_printPrint

SAPPE

คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกลุ่มจิตอาสา Good Intentions (GI) เปิดตัวโครงการ “สร้างศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน : เสียงสว่างนำทาง” ด้วยการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) โดยครูฝึกสอนจากองค์กรสอนคนตาบอดระดับโลก หวังเป็นองค์ความรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนตาบอดไทยอย่างอย่างยั่งยืน
ผ.ศ. น.พ. ม.ล. ทยา กิติยากร ประธานโครงการฯ เผยถึงที่มาของการจัดโครงการสร้างศักยภาพครูต้นแบบในการใช้เสียงสะท้อน : เสียงสว่างนำทาง ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 500,000 คน ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการใช้เสียงสะท้อน Echolocation โดยทักษะดังกล่าวสามารถทำได้จริงและมีการสอนกันในต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกาและยุโรป) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทำกิจกรรมได้อย่างคนปกติทั่วไปมากขึ้น และมุ่งหวังให้มีแนวทางการสอนการใช้เสียงสะท้อน (Echolocation) ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำและความลำบากของคนตาบอดในประเทศไทย
โครงการนี้ นับเป็นครั้งแรกที่นำเทคนิคดังกล่าวเข้ามาสอนในไทย นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการมองเห็นของคนตาบอดไทย โดยทางโครงการได้คัดเลือกผู้พิการทางสายตาที่มีศักยภาพจำนวน 8 ราย มาเข้ารับการสอนด้วยเทคนิคการใช้เสียงสะท้อนที่สร้างขึ้นเองจากการขยับลิ้นเพื่อให้รับรู้สิ่งแวดล้อม เรียกว่า Human Echolocation หรือ Click Sonar เหมือนค้างคาว วาฬ และโลมา เพื่อให้เป็นครูต้นแบบ ต่อยอดและสอนแก่นักเรียนคนตาบอดไทยต่อไป ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร World access for the Blind ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นองค์กรสอนคนตาบอดระดับโลก Mr. Juan Ruiz และ Mr. Brian Bushway (Senior Coach) มาดำเนินการสอนระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพมหานคร
“โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน), ออล โคโค กรุ๊ป, โรงงานยาสูบ, มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ กรุงเทพฯ, สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส, บริษัท นางแมวป่า จำกัด และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ในการสนับสนุนงบประมาณและมอบเงินบริจาคมูลค่ากว่า 3 ล้านบาทให้กับโครงการ อีกทั้งยังมีการถ่ายทำเป็นสารคดีสั้นโดยทีมงานบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด จำนวน 10 ตอน ตอนละ 10 นาที ถูกเล่าโดยนักแสดงที่มีชื่อเสียง อาทิ โอปอล์ ปาณิสรา อารยะสกุล, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, เต๋อ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี เพื่อเก็บเป็นความรู้สำหรับใช้ในการทบทวนหรือเป็นสื่อการเรียนการสอน ออกอากาศผ่านทีวีดิจิตอลช่อง Gmm25 ทุกวันเสาร์ เวลา 21.30 น. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560” ประธานโครงการกล่าวเสริม