มูลนิธิคนดี สมาคมนักข่าวอาชญากรรมฯ และซีพี ออลล์ จัดพิธีมอบรางวัล “คนดี ประเทศไทย”ปีที่7เชิดชู 3คนดีบุคคลต้นแบบผู้มีจิตสาธารณะเสียสละต่อสังคมไทย
มูลนิธิคนดี สมาคมนักข่าวอาชญากรรมฯ และซีพี ออลล์ จัดพิธีมอบรางวัล “คนดี ประเทศไทย”ปีที่7เชิดชู 3คนดีบุคคลต้นแบบผู้มีจิตสาธารณะเสียสละต่อสังคมไทย
มูลนิธิ คนดี (ประเทศไทย) และสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย จัดพิธีมอบรางวัล โครงการ “คนดี ประเทศไทย” ปีที่ 7 เพื่อเชิดชูคนดีให้ได้รับการยกย่อง และได้สร้างขวัญกำลังใจให้ได้ทำความดียิ่งขึ้น เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไป โดยมี นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพร้อมโล่ประกาศเกียรตคุณ ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบผู้มีจิตสาธารณะที่เสียสละต่อสังคมไทย จำนวน 3 ท่าน
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับ มูลนิธิคนดี และสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จัดโครงการสร้างสรรค์ “คนดี ประเทศไทย” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อจุดประกายให้ผู้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการทำความดี และชี้ให้เห็นว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าภาคภูมิใจ ควรจะเชิดชูให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม สำหรับการทำความดีเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา สถานที่ เพศ อายุ อาชีพ ฐานะ ซึ่งในสังคมนี้มีคนที่เป็นคนดีอยู่มากมาย แต่บุคคลที่ลงมือทำความดี ด้วยความทุ่มเท เสียสละ กล้าหาญ เพื่อสังคมและส่วนร่วม โดยไม่คิดถึงผลตอบแทน ดังเช่น คนดีที่ได้รับรางวัลในวันนี้ เป็นเรื่องที่หาได้ไม่ง่ายนักในสังคม จึงขอถือโอกาสนี้แสดงชื่นชมและยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญให้ท่านทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะได้สร้างความตระหนักในเรื่องการทำความดีให้แก่ประชาชนมากขึ้น
นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ ประธานมูลนิธิคนดี (ประเทศไทย) และนายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รางวัลคนดีประเทศไทย เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปีที่ 7 ประจำปี 2557 จัดขึ้นเพื่อเชิดชู ส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจให้คนดี ทำความดีและเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อสังคมต่อไป โดยพิจารณาบุคคลที่ทำความดี ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ เอื้ออารี กตัญญู โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ซึ่งในปีนี้ มีผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 3 ท่าน ล้วนแต่เป็นคนดีที่มีประวัติชีวิตน่าสนใจ อุทิศตนสร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมไทย และยังเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมาย โดยผู้ที่ได้รับรางวัล “คนดี ประเทศไทย” ปีที่ 7ทั้งหมดมี 3 ท่านได้แก่ 1.นายไพโรจน์ จันทะวงษ์ ครูผู้สอนลูกคนงานชาวไทยและชาวต่างด้าวตามแคมป์คนงานก่อสร้างให้มีความรู้ ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์2.นายเดชา ด้วงชนะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) หลักสี่ (น้องสาวรับรางวัลแทน) ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงไหม้อาคารธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่3.นางสาวทับทิม อามาระดิษ (ครูแม๊ะ) ผู้ช่วยครูศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
นายไพโรจน์ จันทะวงษ์ วัย 52 ปี เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้อาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นครูเร่ร่อนสอนลูกคนงานชาวไทยและชาวต่างด้าวตามแคมป์คนงานก่อสร้างย่านวัดเสมียนนารี หลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแคมป์ของบริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัดที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ ถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่น่ายกย่องให้เป็นต้นแบบคนดีในสังคม สำหรับในแคมป์นี้จะมีศูนย์เด็กเล็กลูกคนงานก่อสร้าง ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกแรงงานต่างด้าว ครูไพโรจน์มองเห็นถึงปัญหาระยะยาวจากการที่เด็กไม่ได้รับการศึกษา หากโตไปอาจไปก่ออาชญากรรมและเป็นภาระสังคมได้ จึงเริ่มสอนหนังสือให้เด็กเหล่านี้มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน หวังให้การศึกษาจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ ฉลาด คิดเป็น และรู้ทันต่อการถูกล่อลวง ไม่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ สร้างเงิน สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวต่อไป ตลอดจนเมื่อถึงเวลากลับไปบ้านเกิด จะพูดถึงประเทศไทยในทางที่ดีและได้ไปถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปให้กับเพื่อน ๆและครอบครัว
นายเดชา ด้วงชนะ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) หลักสี่ (น้องสาวรับรางวัลแทน) ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงไหม้บนชั้น 10 และ 11 ของอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา นายเดชา ด้วงชนะ เป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) วัย 35 ปี ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการชุดแรกที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากต้องเดินขึ้นไปในอาคารที่มืดและมีควันอยู่เต็มอาคารซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก ทำให้ต้องจบชีวิตลงเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากออกซิเจนในถังที่ถือขึ้นไปไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ล่วงลับเป็นคนดี มีความทุ่มเทในการทำงาน พร้อมไปช่วยเหลือในทุกจุดทุกเหตุที่ได้รับแจ้ง แม้แต่เรื่องช่วยแมว ช่วยสุนัข ซึ่งการเสียชีวิตได้สร้างความโศกเศร้าให้ครอบครัวและเพื่อนร่วมงานอย่างมากในการทำหน้าที่ในวินาทีสุดท้าย เป็นความภาคภูมิใจและยังเป็นต้นแบบที่ดีให้เพื่อน อปพร. คนอื่นๆ ได้อย่างดี สำหรับการจากไปของนายเดชา ด้วงชนะในครั้งนี้ มีประชาชนเข้าไปเขียนไว้อาลัยการจากไปของ ฮีโร่ อปพร.ผู้นี้เป็นจำนวนมาก
นางสาวทับทิม อามาระดิษ (ครูแม๊ะ) ผู้ช่วยครูศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เด็กสาวที่มาจากครอบครัวยากจน พ่อแม่แยกทางกัน มีพี่น้อง 6 คน แม่ไปมีครอบครัวใหม่ น้อง 4 คนอยู่ในความดูแลของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครูแม๊ะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้บกพร่องและช้า แต่ก็สามารถจบชั้น ม.3 ปัจจุบันกำลังศึกษา กศน.ระดับ ม.5 และทำงานเป็นผู้ช่วยครูมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก หน้าที่หลักคือดูแลเด็กเล็กที่อยู่ประจำเรื่องอาบน้ำ เสื้อผ้า ส่ง-รับไปโรงเรียน สอนการบ้าน ฯลฯ เมื่อสองปีก่อนเคยมาทำกิจกรรมกับเด็กที่ติดตามครอบครัวมาชุมนุมทางการเมืองที่สวนลุมพินี เมื่อการชุมนุมเสร็จสิ้นได้มาเป็นผู้ช่วยครูเต็มตัว ณ โครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กนานาชาติ มีทั้งเด็กไทย พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ตั้งใจเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นความสุขของตนเองจากการที่ได้สอนหนังสือและรู้สึกภูมิใจที่มอบความรู้เป็นประโยชน์กับเด็กๆ สำหรับการพัฒนางานผู้ช่วยครูให้มาช่วยงานของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือเด็กโดยตรง เพราะพวกเขาเหล่านี้จะเข้ากับเด็กได้ดีด้วยว่าเขาเคยเป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กลูกกรรมก่อสร้างมาก่อน