1

มิว สเปซ เปิดเผยแผนเข้าร่วมในโครงการต่างๆ ด้านการสำรวจอวกาศ

วันนี้ มิว สเปซ ออกมาเปิดเผยเป้าหมายสำหรับปี 2562 รวมถึงแผนการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของนาซ่า ซึ่งเป็นองค์การอวกาศของสหรัฐอเมริกา และการเข้าแข่งขันการสำรวจอวกาศ

ในการประชุมสภาการสื่อสารโทรคมนาคมแปซิฟิค ประจำปี 2562 นายวรายุทธ เย็นบำรุง ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งมิว สเปซ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการกำหนดวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทเข้าร่วมการแข่งขันด้านอวกาศได้

“ปีนี้ จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับมิว สเปซ เรากำลังมีแผนที่จะร่วมงานกับนาซ่าเพื่อแสดงถึงความสามารถของเราในการทำโครงการใหญ่ และนำเทคโนโลยีที่เราพัฒนามาใช้งาน โดยเริ่มจากแนวความคิด สู่การทดสอบ และนำไปใช้บินจริงในที่สุด” นายวรายุทธ กล่าว

ตามข้อมูลของนาซ่า มีงบประมาณ 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทุน 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินทุนสำหรับปี 2562 ที่องค์การอวกาศได้รับนั้น จะถูกจัดสรรให้แก่โครงการสำรวจอวกาศ โดยโครงการใหญ่ที่นาซ่าได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ได้แก่ การให้บริการด้านธุรกิจส่งของไปยังดวงจันทร์, การพัฒนาระบบการลงจอดโดยมนุษย์ และการพัฒนาพื้นที่เคเนดี้ สเปซ เซนเตอร์ ขององค์การอวกาศ

“นอกจากโครงการอวกาศของนาซ่าแล้ว เราก็มีเป้าหมายที่จะเข้าร่วมการแข่งขันการสำรวจดวงจันทร์ของ มูน เรซ ด้วย” นายวรายุทธ กล่าวเพิ่ม

มูน เรซ เป็นการแข่งขันระดับสากลที่มุ่งจะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถส่งเสริมการสำรวจดวงจันทร์ได้อย่างต่อเนื่อง การแข่งขันนี้ได้รับการสนับสนุนจากแอร์บัส, บลู ออริจิน องค์การอวกาศยุโรป และอีกหลายๆ ภาคส่วน โดยช่วงระยะเวลาการเปิดรับสมัครเข้าแข่งขัน และรายละเอียดจะประกาศสู่สาธารณะในช่วงต้นปีนี้

สำหรับความพร้อมของมิว สเปซในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ “เราเตรียมตัวมา 100% โดยเราจะใช้ความรู้ ความสามารถของเราสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน และสร้างความแปลกใหม่ในการสำรวจอวกาศ รวมทั้งเราได้จัดตั้งบริษัทขึ้นในสหรัฐอเมริกาแล้ว เพื่อที่จะเข้าประมูลโครงการต่างๆ นี้” นายวรายุทธ กล่าว
มิว สเปซ ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ และดาวเทียมสื่อสารสำหรับขับเคลื่อนการใช้ ไอโอที (IoT) และ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart Cities) ในปี 2561 บริษัทได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการส่งสิ่งของไปอวกาศเป็นรายแรกในเอเชียโดยจรวดของบลู ออริจิน

มิว สเปซ มีแผนที่จะส่งดาวเทียมของตนเองในปี 2564 และเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และส่งเสริมการลงทุนด้านอวกาศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค