มิว สเปซ ยืนยันแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Internet of Things (IoT) เพื่อพร้อมรับเทคโนโลยี 5G

0
481
image_pdfimage_printPrint

บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและกิจการอวกาศสัญชาติไทย กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT (Internet of Things) เพื่อใช้งานภายใต้เครือข่ายเทคโนโลยี 5G แห่งอนาคต ซึ่งภายในงาน Digital Thailand Bigbang 2018 ประธานกรรมการผู้บริหารของมิว สเปซฯ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ มิว สเปซฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการสรุปการออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานของผลิตภัณฑ์ IoT ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ และพร้อมออกสู่ตลาด

“ในปัจจุบัน การเติบโตของธุรกิจด้าน IoT ในประเทศไทย กำลังเป็นที่น่าจับตามอง แต่ในความเป็นจริง การนำผลิตภัณฑ์ IoT ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มิว สเปซฯ ได้มีวิสัยทัศน์และเล็งเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี IoT ในวันที่สังคมเปลี่ยนเข้าสู่ยุค 5G ดังนั้น บริษัทจึงก้าวเข้ามาร่วมในเทรนด์ธุรกิจดังกล่าว” นายวรายุทธ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งมิว สเปซฯ กล่าว

ดังนั้น มิว สเปซฯ จึงวางแผนในการเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT หลากหลายด้าน เช่น เสื้ออัจฉริยะ (Smart Apparel) เพื่อเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้งาน และเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายวรายุทธ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอนาคต มิว สเปซฯ มีโครงการที่จะเข้าร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์ IoT ต่างๆ ภายในสถาบัน IoT รวมไปถึงพื้นที่ของสถาบัน IoT ที่กำลังจะตั้งขึ้นภายในเขตดิจิทัลพาร์คของประเทศไทย ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล ภายในพื้นที่ขนาด 960,000 ตารางเมตร ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

โดยสถาบัน IoT ในพื้นที่ดิจิทัลพาร์ค มีแผนจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้ออกแบบมาเพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงทดสอบผลิตภัณฑ์ IoT ทั้งในด้านการเกษตร ด้านการผลิต ด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมไปถึงการจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ภาครัฐหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบัน IoT จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Tech Startup Ecosystem) เพื่อการปฏิรูปประเทศเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ในส่วนของความร่วมมือกับสถาบัน IoT นั้น มิว สเปซฯ พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยเรามีความเชื่อมั่นว่า ในอนาคต ผลิตภัณฑ์ด้าน IoT ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นนั้น จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมสังคมเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และส่งเสริมสังคมไทยให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” นายวรายุทธกล่าว

จากงานวิจัยของ Frost & Sullivan, พบว่าในปี พ.ศ. 2557 ธุรกิจด้าน IoT ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกันถึงสองพันล้านบาท และคาดว่าธุรกิจในด้านดังกล่าวนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ถึงสามพันสองร้อยล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 นี้

หากเปรียบเทียบกับจำนวนธุรกิจ IoT ในระยะเริ่มต้น จะพบว่า จำนวนภาคธุรกิจ IoT ของประเทศไทยในอนาคต คาดว่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุด เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจ IoT ด้วยกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการคาดการณ์ข้างต้น หากเทคโนโลยี IoT มีการเติบโตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เมื่อนั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำงานภายใต้คำสั่งคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น โดยเราอาจพบว่าอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นถูกควบคุมโดยมนุษย์น้อยลง ขณะเดียวกัน อุปกรณ์ต่างๆ จะถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้ทำงานได้เองโดยคำสั่งอัตโนมัติ” นายวรายุทธ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของภาคธุรกิจ IoT ในประเทศไทย มักจะมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ เสมอ
นายวรายุทธ เสริมว่า “การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความท้าทายที่เราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT อัจฉริยะ เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงและเชื่อมต่อโดยระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่า ระบบการให้บริการ IoT ที่เราพัฒนาขึ้นนั้น เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง”

ถีงแม้ว่าการให้บริการด้าน IoT ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่เติบโตสูงขึ้น แต่การให้บริการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่กลุ่มลูกค้าหลักในด้านการผลิตและการขนส่งโลจิสติกส์เป็นสำคัญ

“เทคโนโลยี IoT สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ได้ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart city) และการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือในอนาคตให้พร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งการดำเนินงานของภาคธุรกิจเหล่านั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระดับอุปสงค์ในตลาดธุรกิจด้าน IoT” นายวรายุทธ กล่าวสรุป