มิตซูบิชิจับตาภาคอีสาน คาดปีนี้ตลาดรถยนต์โตกว่า 75% อานิสงค์รายได้พุ่ง ภาคธุรกิจขยายตัวรองรับแนวเขตเศรษฐกิจนานาชาติ
ปทุมธานี 25 ธันวาคม 2555 : มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เผย ตลาดรถยนต์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้พุ่งกระฉูดกว่าเท่าตัว กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกของพืชผลการเกษตรที่ดี และการขยายตัวของเมืองรองรับเส้นทางถนนแนวเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เล็งขยายจำนวนโชว์รูมรองรับตลาดโตแบบก้าวกระโดด
มร.โนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ตลาด เพื่อวางแผนการพัฒนาธุรกิจ และเป้าหมายรายภูมิภาค พบว่า “เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 19 จังหวัด มีการขยายตัวของตลาดรถยนต์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2555 ตลาดในภาคอีสานน่าจะมีขนาดประมาณ 190,000 คัน หรือโตขึ้นไม่น้อยกว่า 75 % ขณะที่บริษัทฯ คาดหวังส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 13% หรือประมาณ 24,000 คัน โดยประเภทรถยนต์ที่คนภาคอีสานสนใจซื้อหา จะเป็นรถกระบะมากกว่ารถยนต์นั่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกรถกระบะที่มีความทนทานในการบรรทุก รองรับงานหนักได้ดี และประหยัดพลังงาน ซึ่งรถกระบะไทรทัน สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ทั้งหมด และเมื่อเราได้เปิดตัวรถอีโค คาร์ มิราจ ความยอมรับในด้านความทนทานของมิตซูบิชิ ทำให้ลูกค้ายอมรับและตัดสินใจซื้อมิราจได้อย่างไม่ยาก ในปีนี้จำนวนรถยนต์นั่งของมิตซูบิชิจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายรถกระบะไทรทันก็ยังสูงอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบัน ผู้จำหน่ายในภาคอีสานสามารถทำยอดจำหน่ายสะสม (มกราคม-พฤศจิกายน 2555) ได้มากกว่า 20,600 คันแล้ว แบ่งเป็นรถยนต์นั่งประมาณ 32% หรือ 6,600 คัน และรถกระบะรวมพีพีวี 68% หรือ 14,000 คัน จังหวัดที่มีศักยภาพในการขยายตัวของตลาดรถยนต์โดดเด่น ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และกาฬสินธุ์”
เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความต้องการรถยนต์สูง ซึ่งปัจจัยสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ในระดับประเทศคือการวาง “เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก” (East-West Economic Corridor : EWEC) หรือเส้นทางอาร์เก้า (R9) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างเวียดนาม ลาว ไทย และพม่า บนเส้นทาง 1,450 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้ตัดผ่านประเทศไทยเป็นระยะทาง 950 กิโลเมตรซึ่งนับว่ายาวที่สุด และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้รับอานิสงค์หลายประการ เช่น การปรับปรุงถนนให้เป็น 4 เลน ปรับปรุงระบบโลจิสติก การท่องเที่ยว สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เป็นต้น ส่วนในระดับท้องถิ่น ประชากรของภาคอีสานมีการพัฒนาพืชผลการเกษตรให้หลากหลาย เช่น มีการนำผลไม้ของภาคอื่น มาปลูกในภาคอีสานและได้ผลผลิตที่ดี ทำให้เกิดรายได้จากภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การโรงแรม และห้างสรรพสินค้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น ทั้งรถกระบะ และรถยนต์นั่ง ดังกล่าวข้างต้น
“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาโชว์รูมหลายแห่งของมิตซูบิชิ ได้จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น มิตซูมหาสารคาม มิตซู จอหอ จ.นครราชสีมา มิตซู ออโต้ คาร์ จ.บุรีรัมย์ ขณะที่โชว์รูมอื่นๆ ได้จัดกิจกรรมขอบคุณลูกค้าที่ได้ให้ความไว้วางใจเลือกใช้รถยนต์มิตซูบิชิ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรม มิตซูบิชิ แฮปปี้ เดย์ นอกจากการสร้างความประทับใจแล้ว ยังมีการเก็บข้อมูลของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อไป หากพิจารณาจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ในเขตภาคอีสาน จะพบว่ามิตซูบิชิมีสัดส่วนรถจดทะเบียนอยู่ 9.5% หรือเป็นอันดับ 3 เลยทีเดียว” มร. มูราฮาชิ กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีโชว์รูมในภาคอีสานจำนวน 40 แห่ง กระจ่ายอยู่ครบทุกจังหวัดในภาคอีสาน และภายในเดือนมีนาคม 2556 จะเพิ่มจำนวนเป็น 44 แห่ง เมื่อโชว์รูมที่กำลังก่อสร้างอีก 4 แห่งแล้วเสร็จ ซึ่งในจำนวนนี้มีศูนย์บริการซ่อมสีและตัวถัง ไดมอนด์ บอดี้แอนด์เพนท์ 12 แห่ง และศูนย์บริการรถมือสอง ไดมอนด์ ยูสด์ คาร์ 8 แห่ง เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างทั่วถึงและครบวงจร