1

มองการศึกษาชายแดนใต้

มองการศึกษาชายแดนใต้

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะเฉพาะจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมรวมถึงความเป็นอัตลักษณ์และความต้องการของท้องถิ่นพื้นที่นั้นด้วย

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันพุธที่ 3 มิถุนายน 2558 ว่า การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนให้ประชาชนได้พัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านความรู้ ด้านคุณธรรม และการมีอาชีพ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข หลักคิดสำคัญในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเพื่อบูรณาการในการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้หลักการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาที่สอดรับกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและเชื่อมโยงกับหลักศาสนารวมถึงวิชาสามัญและวิชาชีพด้วย

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการดำเนินงานในการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ ประจำอำเภอห่างไกล, โครงการจัดการสอนแบบคู่ขนาน (สอนอาชีพคู่เรียนศาสนา), โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ระบบสองภาษา (ไทย-มลายูถิ่น), โครงการสอบเทียบความรู้อิสลามศึกษา, โครงการส่งเสริมพัฒนาการใช้อักขระมลายูยาวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พลเอกสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า “ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครู เป็นปัญหาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดการเรียนการสอนโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนขนาดเล็ก 365 แห่ง และในอนาคตจะขยายไปสู่โรงเรียนขนาดกลาง 782 แห่งด้วย”

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตอบสนองต่อนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เยาวชนได้เล่นกีฬาตามความสนใจและความถนัดของตนเอง โดยได้เร่งดำเนินการส่งเสริมกีฬาสู่ระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาทักษะและความรู้ทางกีฬาแก่นักเรียนนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นหรือการประกอบอาชีพในอนาคต ภายใต้โครงการ “สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้” ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมแข่งขันกีฬา ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการกีฬา โดยมีหัวใจสำคัญของการแข่งขันคือ การนำไปสู่การส่งเสริมให้คนที่มีความสามารถทางด้านกีฬาได้รับโอกาสในการศึกษาต่อที่สูงขึ้นจนถึงระดับปริญญาตรี ตลอดจนสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ที่จะส่งผลให้เกิดสังคมสันติสุข

รมช.ศึกษาธิการ ย้ำว่า ขณะนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เห็นชอบให้มีการขยายผลโครงการ “สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้” โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 (สพม.15) ดำเนินการในเรื่องการเรียนการสอน อาคารสถานที่และจะมีโรงเรียนจากส่วนกลางให้ความช่วยเหลือเรื่องบุคลากรในการก่อสร้างอาคารก็ได้มีการจัดทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปที่กองทัพบกแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาโรงเรียนในสังกัด สพม.15 ที่คาดว่าจะมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ และในส่วนของการเรียนการสอนเพิ่มเติมด้านกีฬา ก็ให้ทุกโรงเรียนจัดหลักสูตรเพิ่มเติมและปรับหลักสูตรที่มีอยู่ให้เป็นหลักสูตรเฉพาะ เป็นหลักสูตรของสาระเพิ่มเติมในรายวิชาต่างๆ แล้วให้นักเรียนเลือกเรียน โดยจะมีการส่งเสริม สนับสนุนเรื่องวัสดุอุปกรณ์กีฬา รวมถึงสนามกีฬาตามความจำเป็นและความต้องการของโรงเรียน

ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการดำเนินงานจัดสรรทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องสำหรับทายาทผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้มีการกำหนดให้ช่วยเหลือทายาทผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ กรณีที่เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส และทุพพลภาพ ให้ได้รับการช่วยเหลือทุนการศึกษาตามระบบชั้นการศึกษา และกำหนดให้การช่วยเหลือทุนการศึกษาดังกล่าวตั้งแต่เข้ารับการศึกษาไปจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีภายในประเทศและมีอายุไม่เกิน 25 ปี

และเหล่านี้คือรูปธรรมด้านการศึกษาในพื้นที่พิเศษชายแดนภาคใต้ โดยมีกุนซือหลักชื่อพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกำหนดทิศทางการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้