1

มหิดล ได้รับการจัดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย ประจำปี 2019

Times Higher Education World University Ranking องค์กรผู้สำรวจและจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ได้จัดอันดับให้ มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับโลกและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย ประจำปี 2019 โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหลายมิติทั้งจากด้าน Teaching, Citations และ International Outlook ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของสถาบันการศึกษาไทยและคนไทยร่วมกัน ตลอดจนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมและโอกาสแก่เยาวชนไทยและมหาวิทยาลัยมหิดล

วันนี้เรามาคุยกับคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังมุ่งสู่การเป็นผู้นำงานวิจัยบูรณาการและวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (Jackrit Suthakorn) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยในปี 2019 นี้ ตรงกับวาระครบรอบ 131 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้มีบทบาทบ่มเพาะบุคลากรคุณภ่าพ มาสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลก (World-Class University)” และเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” (Wisdom of The Land) ในส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินงานมาจะครบรอบปีที่ 29 ได้กำหนดวิสัยทัศน์สู่การเป็น World-Class Engineering มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยงานวิจัยเชิงบูรณาการ และวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก พัฒนาบัณทิตให้เป็น “วิศวกรแห่งอนาคต” ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ จิตอาสา และความพร้อมในการสร้างสรรค์พัฒนาทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในสังคมไทยและประชาคมโลก โดยมีกลยุทธ์ 4I Society คือ Inter-Disciplinnary, Innovation, Industrialization, Internationalization เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล จัดการเรียนการสอนก้าวล้ำด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในระดับปริญญาตรี 9 ภาควิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า รวมถึงหลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอุตสาหการ สาขาผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม

ส่วนในระดับปริญญาโท มี 7 ภาควิชา คือ เทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ วิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (นานาชาติ) วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมโยธา (หลักสูตรนานาชาติ) วิศวกรรมเคมีบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) วิศวกรรมเครื่องกล

ส่วนระดับปริญญาเอก มีทั้งหมด 6 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมชีวการแพทย์ การจัดการโลจิสติกส์และวิศวกรรม วิศวกรรมเคมีบูรณาการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ และหลักสูตรไทย จำนวน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย วิศวกรรมเครื่องกล และ การจัดการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

นอกจากนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทั้งคุณภาพคนและคุณภาพการศึกษา ที่สอดคล้องกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาประเทศและตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่และตรงความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมสู่โลกอนาคต โดยได้พัฒนาศูนย์ศึกษาวิจัยและนวัตกรรมแบบครบวงจร อาทิเช่น 1. BART LAB ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ 2. Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์อัจฉริยะทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เปรียบเสมือนเวิร์คช็อป ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เมคเกอร์และสตาร์ทอัพสามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการข้ามสาขา , ข้ามคณะและร่วมมือกับธุรกิจอุตสาหกรรม และสร้างชิ้นงานจากความคิดสร้างสรรค์และต้นแบบสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป 3. Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก และ 4. Innogineer BI (Business and Industry) เป็นศูนย์บริการและนวัตกรรมให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดเปิดในเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งให้การสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิชาการต่าง ๆ อีกด้วย และ 5.ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง (Advanced Medical Robotics Center) จากความร่วมมือกับ TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลค่าลงทุนรวม 1,200 ล้านบาท กำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2563 และเฟสสองเปิดบริการเต็มขั้นในปี 2564