มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดตั้งอธิการบดีใหม่ ชู 4-I โมเดล เพิ่มทางเลือก สร้างความหลากหลายในหลักสูตรสำหรับวิทยาเขตกรุงเทพฯ ขยายแผนการเรียนแบบนานาชาติสู่วิทยาเขตหัวหิน ยกระดับการศึกษาแบบอินเตอร์ฯ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 – มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดประกาศแต่งตั้ง ดร. แอนดรูว์ สกาวน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่ โดยชู 4-I โมเดล เป็นแกนหลักในการพัฒนาการเรียนการสอน เปิดตัวทางเลือกรายวิชาใหม่สำหรับวิทยาเขตกรุงเทพฯ พร้อมเพิ่มแผนการเรียนแบบนานาชาติสำหรับหลักสูตรที่วิทยาเขตหัวหิน ตอกย้ำจุดยืนการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ไม่หยุดนิ่งในการนำองค์ความรู้ระดับโลกที่ทันต่อเหตุการณ์มายกระดับการศึกษาไทย
ดร.สกาวน์ เป็นผู้มากประสบการณ์ในวงการการศึกษา โดยผ่านงานบริหารหลายด้านในหลายประเทศตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการศึกษา ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกับ Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศออสเตรเลียเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยดร.สกาวน์ จะรับหน้าที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดต่อจากรศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
ในฐานะที่เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่ ดร.สกาวน์ เปิดเผยวิสัยทัศน์การนำมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นด้วยโมเดล 4-I
“โมเดล 4-I มาจาก International, Innovative, Industry และ Integrity โดย International หมายความว่า เราสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นนานาชาติ และพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เพียงเสริมสร้างองค์ความรู้ในวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียน แต่ยังหมายถึงการช่วยให้นักศึกษามีความมั่นใจ มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออกท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย” ดร.สกาวน์ กล่าว
“ในด้าน Innovative เรามุ่งนำหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การบริหารในเครือลอรีเอทซึ่งมีอยู่ 80 แห่งใน 28 ประเทศทั่วโลก มาต่อยอดให้เข้ากับบริบทการเรียนการสอนในประเทศไทย”
“ส่วนในด้านของ Industry คือเราขยายความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องในการทำโครงการที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้มีประสบการณ์ตรงจากองค์กรธุรกิจ รวมทั้งปรับรูปแบบและเนื้อหาการเรียนการสอนเพื่อให้บัณฑิตของเรามีทักษะ ความรู้ ความสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป ล่าสุด เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีห้อง Bloomberg Lab เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแบบเรียล ไทม์”
ในด้านของ Integrity ดร.แอนดรูว์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดมุ่งเน้นการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อ เป็นที่ไว้วางใจขององค์กรต่างๆ ว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยฯ เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และเป็นที่ไว้วางใจของสังคมว่ามหาวิทยาลัยฯ มุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม ดังปฏิธาน Here For Good ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก
เพื่อตอกย้ำการผลิตบุคลากรตามโมเดล 4-I ในปี พ.ศ.2559 นี้ ทางมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เตรียมเปิด Business Intelligence หรือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการข้อมูลอัจฉริยะทางธุรกิจ International Relations หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารนานาชาติ ที่วิทยาเขตพระราม 9 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ มองเห็นว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมากในอนาคต
“สำหรับวิชา Business Intelligence หรือ ธุรกิจอัจริยะ เราอยู่ในโลกของ Big Data เกือบทุกธุรกรรมในชีวิตประจำวันของพวกเราล้วนก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาลไม่รู้จบ ผู้ที่สามารถวิเคราะห์ดึงข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น มาใช้ประโยชน์ได้ จะเป็นบุคคลที่ตลาดต้องการ และเรากำลังผลิตบุคลากรเหล่านั้นให้กับวงการนี้ ในขณะที่วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะตอบโจทย์เรื่องโลกของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองแบบไร้พรมแดน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีประเทศใดจะดำรงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างสมบูรณ์ได้โดยไม่มีการเชื่อมโยงกับประเทศอื่น” ดร.สกาวน์ กล่าว
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังได้ร่วมมือกับ Pace University มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกาในการเปิดหลักสูตรดับเบิ้ลดีกรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ให้นักศึกษาสามารถเลือกวิชาโทด้าน Global Strategy Marketing หรือ Integrated Marketing Communication โดยเลือกศึกษาที่ Pace University ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี และรับวุฒิการศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และ Pace University เมื่อสำเร็จการศึกษา
โดยดร.แอนดรูว์ มองว่าการที่ประเทศไทยก้าวสู่เขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาพรวมของการระบบการศึกษาที่วันนี้ไม่เพียงแค่การสร้างบุคคลากรให้ตอบโจทย์ต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ยังต้องสอดรับกับภาพรวมของอุตสาหกรรมสากล ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น การศึกษาในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล จึงไม่ใช่เพียงแต่การเรียนเพื่อฝึกทักษะการสื่อสารระหว่างกันเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนทำธุรกิจ ระหว่างประเทศอย่างเข้าใจในการแข่งขันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่แสตมฟอร์ดต้องการสร้างให้เกิดขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักศึกษาที่มีความหลากหลายมากถึง 92 ประเทศจะช่วยให้นักศึกษาของแสตมฟอร์ด เรียนรู้ทักษะการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษตลอดเวลา รวมถึงหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับเทรนด์อุตสาหกรรมโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยจุดสำคัญของระบบการศึกษาคือตัวของนักศึกษาที่แสตมฟอร์ดมุ่งเน้นให้สามารถเริ่มงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา เป็นกุญแจสำคัญที่แสตมฟอร์ดได้รับความไว้วางใจจากภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน
สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับธุรกิจอาทิ กลุ่มธุรกิจเซ็นทรัล,ธนาคารไทยพาณิชย์,ธนาคารกรุงเทพ, กลุ่มธุรกิจคอลเก็ต,กลุ่มเมเจอร์เซนิเพล็กซ์ เป็นต้น โดยดร.แอนดรูว์ มองว่าการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้สามารถสร้างผลกำไร และตอบแทนสังคมได้ในที่สุด ดังนั้นภาพรวมของการก้าวเข้าสู่ AEC จึงเป็นอีกมิติของระบบการศึกษาที่ภาคการศึกษา จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน จนสามารถขับเคลื่อนให้เป็นระดับนโยบายที่ต้องการให้ระบบการศึกษาของไทยไม่ได้มองเพียงแค่ระดับภายในประเทศ แต่เป็นภาพของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและระดับสากลในที่สุด เป็นความได้เปรียบของเด็กรุ่นใหม่ที่จะมีตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาของตนเอง
นอกจากทางเลือกวิชาใหม่สำหรับปริญญาตรี ทางมหาวิทยาลัยฯ เตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ด้านการจัดการกีฬา ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Real Madrid Graduate School ในการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวเป็นครั้งแรกในเอเชีย
สำหรับวิทยาเขตหัวหิน ทางมหาวิทยาลัยฯ มุ่งยกระดับการศึกษาของวิทยาเขตหัวหิน ด้วยการเรียนการสอนแบบ Dual Campus หรือ โปรแกรมการเรียนแบบสองวิทยาเขต ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่หัวหิน สามารถเลือกเรียนวิชาที่เปิดสอนที่กรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ ยังได้เปิดโปรแกรมนานาชาติในวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และสาขาวิชาการจัดการโรงแรมนานาชาติเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรปริญญาตรี และเตรียมนำการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาใช้กับหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) เพื่อเพิ่มศักยาภาพในการเรียนรู้ของนักศึกษา ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่ต้องการศึกษาต่อในขณะเดียวกันก็ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ Blackboard ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีระบบสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีรางวัล Blackboard Catalyst Award 2014 ในสาขานวัตกรรมอุปกรณ์การเรียนการสอนแบบผสมผสานที่มีความทันสมัย เป็นเครื่องยืนยันความเป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น มหาวิทยาลัยนานาชาติอันดับ 1 ของเมืองไทย ตั้งเป้าให้มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นในเป็น 11,000 คนในปี 2020 ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4,444 คน
“เรานำองค์ความรู้ที่ดีที่สุดมาให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึง ไม่ว่านักศึกษาจะอยู่ที่ใด เราใช้รูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถให้นักศึกษาสามารถไปปรับใช้ได้จริงในโลกการทำงานในอนาคต” ดร.สกาวน์ สรุป
****************************
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์ โทร: 083 073 2636 อีเมลล์: piyarat.setthasiriphaiboon@stamford.edu