1

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผนึกองค์กรธุรกิจชั้นนำ ดันนักศีกษาขึ้นเวทีหาประสบการณ์จริง ในโครงการประกวดแผนธุรกิจระดับเอเชีย ASIA VENTURE CHALLENGE 2014 หวังสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยหลักธรรมมาภิบาล เสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทย เตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  บริษัท ไทยเบพเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และอีกหลายองค์กรชั้นนำ ร่วมจัดโครงการประกวดแผนธุรกิจในระดับเอเชีย ASIA VENTURE CHALLENGE 2014 ครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด “ซื่อตรงต่อธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน” หวังสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยหลักธรรมมาภิบาล เสริมทัพเศรษฐกิจไทย เตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC     

 รศ. เกศินี 3

คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นับเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและทักษะเชิงธุรกิจของนักศึกษาไทยผ่านโครงการประกวดแผนธุรกิจในระดับเอเชีย          “ASIA VENTURE CHALLENGE 2014” เวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจและมีโอกาสเรียนรู้ทักษะเชิงธุรกิจ เช่น การวางแผนทางธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน การเขียนแผนงานธุรกิจและทักษะการนำเสนองาน เป็นการเตรียมความพร้อม หาประสบการณ์จริง เพื่อพัฒนาเป็นนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในอนาคต เพราะจากสถานการณ์ธุรกิจปัจจุบัน พบว่าผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าท้ายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น นโยบายการเพิ่มรายได้แรงงาน และจากปัจจัยภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการเปิดตลาดเสรีทางการค้าในปี 2558 รวมถึงความต้องการจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในปี 2556 มีจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ 38 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 13 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 15 บริษัท รวม 28 บริษัท เพิ่มขึ้น 10 บริษัท คิดเป็น 55.56% เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยมีมูลค่าระดมทุนรวม 39,062.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,398.15 ล้านบาท คิดเป็น 98.65% เมื่อเทียบกับปี 2555 นอกจากนี้ยังมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 7 กองทุน มีมูลค่าระดมทุนรวม 25,647.32 ล้านบาท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 3 กองทุน มีมูลค่าระดมทุนรวม 126,890.40 ล้านบาท ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนของหลักทรัพย์ใหม่ทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 191,599.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 265.19% จากปีก่อน (ปี 2555 52,466.45 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและขยายโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่มีอยู่ จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องเน้นสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง”

 

       รศ. เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการคลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ASIA VENTURE CHALLENGE” การประกวดแข่งขันแผนธุรกิจระดับนานาชาติ สำหรับนักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ที่ใหญ่สุดในเอเชีย ดำเนินโครงการภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ       A (Asia) – เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ด้วยอิทธิพลจากกำลังชื้อที่มากและจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่สุด    V (Venture) –  เวทีการแข่งขันที่รวบรวมแผนธุรกิจ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง เหมาะสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจที่กำลังมองหาช่องทางธุรกิจในเอเชีย  C (Challenge) – สนามประลองการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยและนักศึกษาจากต่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอแผนธุรกิจ ทีมที่เข้าแข่งขันทุกทีมต้องแข่งขันกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการ ซึ่งเปรียบเสมือนดั่ง “ผู้ลงทุน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมทุน” (Venture Capitalist) โดยจะต้องจัดทำแผนธุรกิจของผลิตภัณฑ์ และบริการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ การวิจัย ศึกษาตลาด ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีความเป็นไปได้โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า ธุรกิจจะสามารถทำได้จริงและจะประสบความสำเร็จหากได้รับเงินทุนสนับสนุน ตลอดจนสามารถให้ผลตอบแทนตามที่ตั้งเป้าไว้ เราจึงมั่นใจได้ว่าโครงการประกวดแผนธุรกิจ เอเชีย เวนเจอร์ ชาเลนจ์ 2014 จะสร้างนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่เป็นต้นแบบของ SMEs ไทยได้ ด้วยการบ่มเพาะนักศึกษาให้พัฒนาศักยภาพด้านวิชาการควบคู่ไปกับความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเชิงพาณิชย์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน  และเป็นแนวทางการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ระบบเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่าง สถาบันการศึกษา  ผู้ประกอบการ  นักลงทุนและหน่วยงานรัฐ อย่างต่อเนื่องต่อไป”

 

“สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงที่ประเทศไทยควรบ่มเพาะให้มีจำนวนมากขึ้นนั้น ทางรศ. เกศินี วิฑูรชาติ กล่าวว่า “คุณสมบัติสำคัญที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ดีควรมี คือ ความซื่อตรง (Integrity) ธรรมชาติของผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะมองโลกในแง่ดี กล้าที่จะเสี่ยง ประเมินต้นทุนต่ำเกินไป คาดการณ์ยอดขายไว้สูงเกินจริง เมื่อผลไม่เป็นดังที่คาดไว้ผู้ประกอบการจะประสพภาวะขาดทุน ล้มเหลมในการทำธุรกิจ ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างการทำธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ตรงต่อธุรกิจ หรือ เพื่อความอยู่รอดในธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ จากสถานการณ์ธุรกิจปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจโดยขาดความโปร่งใส ความกลัวจากการที่ผู้ประกอบการทำไม่ได้ตามเป้า ความจริงแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้มากไปกว่าการขาดความมั่นใจในตัวผู้ประกอบการที่นักลงทุนไว้ใจให้จัดการเรื่องเงิน อาจจะดูเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการตัดสินใจ นั่นคือ สถานการณ์ที่จะทดสอบศีลธรรมของผู้ประกอบการด้วยการมองหาความซื่อสัตย์สุจริตและจรรยาบรรณในการทำงานของผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นละการยอมรับของนักลงทุนได้”

 

โครงการประกวดแผนธุรกิจ ASIA VENTURE CHALLENGE 2014 ภายใต้แนวคิด “ซื่อตรงต่อธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน” หรือ “integrity” กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2557 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี่ ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจทั้งนิสิต นักศึกษา นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปเข้าฟังฟรี นอกจากจะเป็นแผนธุรกิจที่สามารถทำได้จริงและน่าสนใจต่อนักลงทุนแล้ว หลายๆ แผนธุรกิจ ก็จัดเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ของทวีปเอเชียสู่สายตาของคนทั่วโลก โดยมีคณะกรรมการตัดสินเป็นนักธุรกิจชั้นนำทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งผู้ชมการแข่งขันที่ได้ฟังคำวิจารณ์จากคณะกรรมการ ก็สามารถเกิดการต่อยอดทางความคิด รวมถึงได้รับมุมมองใหม่ๆ และแง่คิดในการประกอบธุรกิจอันเป็นประโยชน์ ทั้งยังช่วยเสริมศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลต่อไปในอนาคต

 

ในการจัดการแข่งขัน “ASIA VENTURE CHALLENGE”  หลายปีที่ผ่านมา นักศึกษาทีมชนะเลิศจากเวที ASIA VENTURE CHALLENGE สามารถคว้ารางวัลแชมป์โลกได้ถึง 2 ครั้ง จากการแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลก หรือ Venture Labs Investment Competition (VLIC) ที่มหาวิทยาลัย เท็กซัส แห่งออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันที่ได้ชื่อว่ามีความเก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก โดยคว้าแชมป์แผนธุรกิจโลกครั้งในแรกในปี 2005 จากโครงการปริญญาโททางการตลาด หลักสูตรนานาชาติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (MIM) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และครั้งที่สองในปี 2012 จาก Indian School of Business ประเทศอินเดีย

 

 

สำหรับผู้สนใจทั้งนิสิต นักศึกษา นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปเข้าชมการแข่งขัน “ASIA VENTURE CHALLENGE 2014” สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-222-1331 หรือที่เว็บไซด์ www.asiaventurechallenge.org