มนุษย์อวกาศ นักบิน วิศวกรการบิน จะไม่เป็นแค่อาชีพในฝันของเยาวชนอีกต่อไป!!จุดประกายความคิด+เปิดโลกการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการบินกับ EEC INNOVATION YOUTH CAMP
ปัจจุบัน อาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินถือเป็นกลุ่มอาชีพยอดนิยมของเด็กไทย แต่ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนบุคลากรที่จะมารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนั้นการสร้างบุคลากรในสายงานนี้จึงมีความจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้เยาวชนในเรื่องนี้ จึงร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดค่าย “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่” หรือ EEC INNOVATION YOUTH CAMP ในหลักสูตรเทคโนโลยีการบินและอวกาศขึ้น เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่เกี่ยวกับการบิน ให้ได้เรียนรู้และต่อยอดความฝันของตัวเอง และเป็นแนวทางในการศึกษาต่อเพื่อต่อยอดสู่อาชีพในอนาคต
ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ เป็นกิจกรรมเตรียมพร้อมพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกให้มีศักยภาพและตอบสนองต่อความต้องการของภาคการผลิตและภาคการบริการ พร้อมมุ่งเสริมความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ให้สามารถพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานในอนาคต โดยใช้หลักการเรียนการสอนแบบ STEM Education ร่วมกับการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองเป็นแนวคิดหลัก
ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะวิทยากรจากค่ายเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone) กล่าวว่า ในหลักสูตรเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เป็นการเตรียมความพร้อมและเติมศักยภาพให้น้องๆ เยาวชนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยให้ผู้เรียนได้เริ่มต้นรู้จักและเข้าใจความรู้พื้นฐานการบิน เฮลิคอปเตอร์ อากาศยาน อวกาศ ตลอดจนพื้นฐานด้านกลศาสตร์ และระบบควบคุมกลไกอัตโนมัติ รวมทั้งฝึกออกแบบเครื่องร่อน เครื่องบิน และทดลองควบคุมอากาศยานด้วยซอฟแวร์จำลองการบิน และอากาศยานต้นแบบ รวมถึงการออกแบบอากาศยาน การสร้างต้นแบบ การนำเสนอผลงานและการทดสอบการบิน
“ทั้ง EEC และ OKMD จัดค่ายนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับน้องๆ เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเชื่อว่าไม่เคยมีการจัดค่ายแบบนี้ขึ้นมาก่อน เราใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดำเนินการจัดกิจกรรมทั้งหมด เน้นในทุกรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนปฏิบัติกับอากาศยาน โดยเราสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ขึ้นมาเฉพาะสำหรับการฝึกอบรม ที่มีทั้งการสอนภาคทฤษฎีให้เห็นภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบ สร้าง ผลิต และการใช้งาน ในส่วนของภาคปฏิบัติ ก็จะปล่อยให้น้องๆ เยาวชนได้ทดลองแข่งขันเครื่องบินที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เพื่อให้เห็นจุดเด่นและจุดบกพร่องในสร้างเครื่องบินที่จะนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป นอกจากนั้น เรายังสอดแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องเพื่อให้พวกเขาได้มองเห็นภาพกว้างและโอกาสของอาชีพในสายงานนี้”
ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ EEC มีความโดดเด่นและเติบโตเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสของคนในพื้นที่ที่จะได้เข้าสู่ตลาดแรงงานและได้รับค่าตอบแทนที่สูง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความคาดหวังของเราก็คือ การเรียนรู้ในค่ายนี้จะทำให้เด็กสนใจการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และมองเห็นช่องทางที่จะนำความรู้นี้ไปต่อยอดในอนาคต
ด้าน นางสาวศศิกานต์ ซู (ไข่มุก) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง กล่าวว่า “กิจกรรมในค่ายนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาของหนูค่ะ และเป็นสาขาที่น่าสนใจมาก วิทยากรสอนให้รู้ว่าหลักการบิน ได้รู้จักโดรนชนิดต่างๆ หนูได้รับความรู้เยอะมาก และ รู้สึกประทับใจวิธีการสอนทำเครื่องร่อนจากแก้วกระดาษ และลูกโป่งที่มีไฟอยู่ข้างใน การประกอบโดรน ในอนาคตถ้ามีการจัดค่ายนี้อีก หนูก็อยากให้เพื่อนๆ ที่รักและสนใจด้านการบินและอวกาศ ได้มาเข้าค่ายแบบนี้ค่ะ เพราะจะทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราสนใจเป็นสิ่งที่เราถนัดหรือไม่ และชอบจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกวิชาเรียนในอนาคตด้วยนะคะ ”
นายศิวกร วงษ์เลิศ (กัส) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา) กล่าวว่า “ดีใจที่ผู้ใหญ่จัดกิจกรรมแบบนี้ให้ ส่วนตัวเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก แต่ค่ายนี้สามารถทำให้น่าสนใจขึ้นได้ และได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย รู้สึกสนุกที่ได้เรียนเรื่องโดรน นอกจากนั้นยังได้เจอกับเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเหมือนกัน ผมมีความฝันว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่หากไปไม่ถึงฝัน ก็อยากทำงานด้านการบิน ซึ่งค่ายนี้ตอบโจทย์ผมได้พอดีและเป็นแรงบันดาลใจให้ผมพยายามไปให้ถึงฝันให้ได้ครับ”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EEC INNOVATION YOUTH CAMP หรือ ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเกมและ แอนิเมชัน อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ติดต่อหมายเลข 02-1056524, 02-1056511 และ 02-1056517 หรือ www.eeco.or.th