1

มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร คว้าถ้วยประทาน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร คว้าถ้วยประทาน
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา จากผลงานการพัฒนากิจกรรมนักศึกษาสู่บัณฑิตนักปฏิบัติยุคดิจิทัล Thailand 4.0 : ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์จำลอง ด้านคณะทรัพยากรธรรมชาติ รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทโปสเตอร์ จากผลงาน ตามรักษ์…อ้มหอม คืนผ้าย้อมมูลควาย ในการประชุมสัมมนาเครือข่ายการจัดการความรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันการพลศึกษา และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (KM9 มทร.+2) ครั้งที่ 11 “การจัดการความรู้สู่การขับเคลื่อน Thailand 4.0” ระหว่างวันที่ 20- 23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.เพชรไพรริน อุปปิง ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์จำลอง อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการบัญชี สาขาบริหารธุรกิจ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่าในการเรียนการสอนของวิชาชีพบัญชี มักจะพบปัญหาหลัก คือ เนื่องจากงานทางด้านบัญชีเป็นความลับ การส่งนักศึกษาไปฝึกงานหรือสหกิจศึกษาตามสถานประกอบการต่างๆ พบว่า นักศึกษาจะมีเวลาในการเรียนรู้งานเพียงแค่ 4 เดือน ทำให้นักศึกษาบัญชีส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงงานบัญชีจริงๆ จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์สหกรณ์จำลองขึ้นมาเพื่อที่จะให้เป็นศูนย์บัณฑิตนักปฏิบัติ ให้นักศึกษาบัญชีสามารถเรียนรู้งานบัญชีครบทั้งระบบ (Business model) และสามารถจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินได้จริง จึงได้เขียนคำของบประมาณในการตั้งศูนย์บัณฑิตนักปฏิบัติสหกรณ์จำลองขึ้นและได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ 7 ปีแล้ว
ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์จำลอง เป็นการนำรายวิชาต่างๆ เข้ามาประกอบการดำเนินงาน เช่น รายวิชาการบริหารความเสี่ยงองค์กรและการตรวจสอบภายใน เราใช้วิชานี้เป็นวิชาหลัก และเปิดโอกาสให้วิชาอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิเช่น วิชาการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน วิชาระบบสารสนเทศทางบัญชี วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชี การวิจัยทางบัญชี และการสอบบัญชี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการกับโปรแกรมวิชาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ ในเรื่องของการเขียนโปรแกรมสมาชิกสหกรณ์และการจัดทำวีดิทัศน์ของพนักงานเพื่อฝึกอบรมพนักงานขาย รวมทั้งเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เราก็ได้รับความร่วมมือจากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเข้ามาช่วยเหลือในตรงนี้เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์และให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นสหกรณ์จำลอง และในการประชุมเครือข่ายการจัดการความรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันการพลศึกษา และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (KM9 มทร.+2) มีผลงานที่ผ่านการนำเสนอจำนวน 12 ผลงาน จาก 131 ผลงาน โดยผลงานสหกรณ์ ชื่อผลงาน “การพัฒนากิจกรรมนักศึกษาสู่บัณฑิตนักปฏิบัติยุคดิจิทัล Thailand 4.0 : ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์จำลอง” และได้รับถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา จำนวน 3,000 บาท
นางสาวกัญญา บุญเกื้อ หรือ แพม ประธานสหกรณ์จำลอง กล่าวว่าศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์จำลองใช้วงจรของเดมมิ่ง PDCA เริ่มตั้งแต่การวางแผน ลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบและการแก้ไข กระบวนการนี้จะเป็นการทำรุ่นต่อรุ่นจนมาถึงปัจจุบันรุ่นที่ 7 ดังนี้ P=Plan สหกรณ์จะมีการประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินงานและกำหนดงบประมาณในการดำเนินงานประจำปีในทุกปี D= Do คือ ฝ่ายบัญชีและการเงินนำโปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชีเข้ามาใช้ที่เกี่ยวข้องกับ Thailand 4.0 ฝ่ายขายมีการนำเครื่องบันทึกเงินสดเข้ามาใช้ในสหกรณ์จำลอง ด้วยระบบบาร์โค้ด และสรุปยอดรายงานการขายในทุกวัน นอกจากนี้ฝ่ายขายยังร่วมมือกับโปรแกรมสารสนเทศในการจัดทำวิดีทัศน์การปฏิบัติงานของพนักงานเพื่ออบรมพนักงานขายใหม่ที่จะเข้ามาในแต่ละปี ในส่วนฝ่ายบุคลากร มีการนำโปรแกรมระบบสมาชิกหุ้นและการคำนวณเงินปันผลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และในปีที่ผ่านมา จังหวัดสกลนคร ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ทางสหกรณ์จำลองได้จัดทำโครงการ CSR เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งโครงการฟื้นฟูน้องในโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา รวมถึงโครงการสร้างขวัญและกำลังใจให้สมาชิกโดยมอบเงิน 20,000 บาทเป็นทุนการศึกษา และจับสลากของขวัญเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ฝ่ายอาคารสถานที่ มีการทำกิจกรรม 7 ส เป็นประจำ และยังเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ฝ่ายตรวจสอบภายใน จะมีการตรวจสอบ 2 ครั้ง คือ การตรวจสอบหลังการสอบกลางภาค และการตรวจสอบหลังการสอบปลายภาค จะตรวจสอบด้านเอกสาร ผ่านระบบโปรแกรมสำเร็จรูปว่าถูกต้องหรือไม่ C=Check ด้านการประเมิน มีการประเมิน 2 ลักษณะคือเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ซึ่งการวัดผลในเชิงปริมาณมีการวัดกำไรและขาดทุน ซึ่งแสดงถึงยอดขายรวมถึงกำไรขั้นต้น เรามีการทำงบมาตั้งแต่ พ.ศ.2554 ซึ่งพบว่า พ.ศ.2559 มียอดขายสูงสุด ประมาณ 500,000 บาท และทำให้เรามีกำไรถึง 132,000 บาท และเรายังมีการวัดผลเชิงคุณภาพคือการวัดถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการสหกรณ์จำลอง พบว่า พ.ศ.2559 ระดับความพึงพอใจอยู่ที่ 4.46 หรือมีความพึงพอใจมาก นอกจากนี้ยังมีการติดตามการมีงานทำของคณะทำงานสหกรณ์จำลอง พบว่า ส่วนใหญ่ทำงานในบริษัทใหญ่และทำในส่วนราชการค่อนข้างมากด้วย A=Act การนำปัญหาในการปฏิบัติงานมาปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
“หมิว” นางสาวกมลชนก ธรรมสาน รองประธานฝ่ายขายสหกรณ์จำลอง กล่าวว่าตนเป็นคนชอบการประสานงานการพบปะผู้คน การทำงานในสหกรณ์จำลองทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตำรา ได้ทำงานประสานกับฝ่ายต่างๆ ตามความถนัดของตนเอง และได้ทักษะการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ได้เรียนรู้วิธีการมอบหมายหน้าที่ให้เหมาะกับน้องแต่ละคน ที่สำคัญคือได้พิสูจน์ความซื่อสัตย์ของตนเอง
“ธีม” นายวีระยุทธ สมบูรณ์ รองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน กล่าวว่า การทำงานนี้เสมือนเป็นการจำลองให้เราเป็นเหมือนผู้บริหารก่อนหน้านี้เราเป็นเพียงสมาชิก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้ได้หลายอย่าง อาทิเช่น ทำงานจริง รู้วิธีการบันทึกบัญชี สามารถจัดทำรายงานทางการเงินได้ มันเพิ่มทักษะของนักบัญชีอย่างดีทีเดียว ซึ่งถ้าเราเรียนอย่างเดียว พอเรียนจบไปกว่าเราจะไปเรียนรู้งานจริงมันต้องใช้เวลา การทำงานในสหกรณ์เป็นการลดขั้นตอนที่ต้องไปฝึกประสบการณ์ส่วนนี้ นอกจากนั้นยังสร้างความรับผิดชอบ สร้างวินัย เพิ่มทักษะการปฏิบัติงานและการเป็นคนตรงต่อเวลาผมเชื่อว่าถ้าผมจบแล้วผมทำงานได้จริง
“ต้อ” นายพูลศักดิ์ แก้วตา คณะกรรมการบริหารสหกรณ์ กล่าวว่า นับว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผมมากที่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ ทำให้เรารู้จากคนรอบข้างว่าแต่ละคนเป็นยังไงมีวิธีทำงานอย่างไร ทำให้มีความอดทน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเราขยันขึ้น เมื่อก่อนเรียนอย่างเดียว ตอนนี้ทำให้รู้ว่าเรียนกับกิจกรรมมีประโยชน์ทั้งสองอย่างต้องทำควบคู่กันไป และยังได้สังคมเปิดโลกทัศน์ตัวเอง
ธีม กล่าวต่อว่า วินาทีประกาศผล ลุ้นมากเพราะเราก็หวังว่าเราจะได้รางวัล ทุกคนดีใจกันหมด เรารู้ว่าเราไปในนาม มทร.อีสาน ความหวังของพวกเราคือต้องได้ถ้วยประธานกลับมา และมันสำเร็จแล้ว เราดีใจที่เราสร้างชื่อเสียงให้ มทร.อีสานสำเร็จ ก่อนที่เราจะจบการศึกษา และสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จได้คือ เราได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารในการจัดตั้งสหกรณ์ ตั้งแต่ 2554 โดย รศ.ดร. ธนานันต์ กุลไพบุตร คณบดีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เรามีความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงการนำหลัก PDCA เข้ามาใช้ ซึ่งทำให้สหกรณ์ของเราเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เรามีระบบพี่สอนน้องที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีทีมอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้มแข็ง สหกรณ์จำลองมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีการประชุมวางแผนและควบคุม และมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน สิ่งสำคัญสุดคือพวกเราเองได้ลงมือทำงานจริง เป็นการตอบโจทย์คำว่า Hands on อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การยึดมั่นคำกล่าวของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ได้กล่าวไว้ว่า ความสำเร็จของการเรียนการสอนจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากการร่วมมือและลงมือปฏิบัติทั้งอาจารย์และนักศึกษา เมื่อไรก็ตามที่อาจารย์และนักศึกษาร่วมมือกันปฏิบัติ ย่อมเกิดความสำเร็จและเป็นการศึกษาที่ยั่งยืนตลอดชีวิต ครูที่ดีจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการดำเนินงาน “ศูนย์บัณฑิตนักปฏิบัติธนาคารจำลอง” ที่จะใช้หลักการเดียวกับสหกรณ์จำลองคือให้นักศึกษาได้สวมบทบาทการทำงานจริงตามโครงสร้างองค์กร ซึ่งเป็นศูนย์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น และได้รับงบประมาณประจำปี 2561 เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงเพิ่มมากขึ้นจาก “ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์จำลอง” และเรายังวางแผนการส่งเสริมเรื่องหลักการสหกรณ์ให้ชาวบ้านในบริเวณรอบ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เช่น สหกรณ์ข้าว เป็นต้น ผศ.ดร.เพชรไพรริน กล่าวทิ้งท้าย