มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายท่องเที่ยว ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “Visit Ching Mai – I miss you” ร่วมฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่นหลังโควิด-19 ชวนเที่ยวย่าน “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-นิมมานเหมินทร์ สร้างสรรค์” เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจเชียงใหม่หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด – 19 พร้อมชูยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ พลิกโฉมอัตลักษณ์ล้านนาสู่สากล ด้านหัตถกรรมสร้างสรรค์ อาหารสุดล้ำ และภูมิปัญญาสุขภาพ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดพิพิธภัณฑ์เรือน โบราณล้านนา จัดกิจกรรม “จิบชา ล้านนาสร้างสรรค์” โดยมีนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานในการเปิดกิจกรรมฯ พร้อมด้วยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเชิญชวนให้กลับมาท่องเที่ยว นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การจัดงาน “Visit Chiang Mai, I Miss You” เปิดเชียงใหม่ให้คิดถึง ภายใต้แนวคิด “Lanna High Tea : จิบชา ล้านนา สร้างสรรค์” ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เพื่อเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่แนวใหม่ด้านล้านนาเชิงสร้างสรรค์ ที่แยกหมวดหมู่สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น ได้แก่
หัตกรรมสร้างสรรค์ (Arts and Craft – Creative Craft) การแปลงความรู้เป็นต้นทุนของชุมชนด้วยการบูรณาการศาสตร์ปัจจุบัน โดยอาศัยวิธีการ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเข้าถึงได้สะดวกต่อยอดให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน อาทิ งานหัตถกรรมจากบ้านเหมืองกุง ตองกาย บ้านถวาย บ่อสร้าง
อาหารสุดล้ำ (Lanna Gastronomy – Fantastic Foods) โดยศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พัฒนาเปลี่ยนโฉมอาหารพื้นเมืองโดยนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องปรุงนำมาต่อยอดสร้างสรรค์เมนูอาหาร ให้มีรูปทรงแปลกใหม่และรสชาติที่แตกต่างจากของเดิม กลายเป็นเมนูใหม่ที่สามารถเปิดประสบการณ์อาหารสุดทึ่งให้กับผู้บริโภค เช่น ยำจิ้นไก่เจลลี่คิวบ์ (Jelly Cube) จิ้นส้มเมอแรงค์ ข้าวซอยเจียงใหม่ไอศกรีม และกุหลาบเวียงพิงค์สเฟียร์ (Sphere Juice) ทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารได้อีกแห่งหนึ่ง
ภูมิปัญญาสุขภาพ (Lanna Wellness Wisdom) เป็นการนำภูมิปัญญามาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและศาสตร์การนวดเพื่อสุขภาพ โดยศูนย์นวัตกรรมสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ เป็นการนำความหลากหลายของพันธุ์พืชจากวิถีชีวิตของชาวล้านนามาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพและความงามในรูปของอาหาร เวชสำอางค์และเครื่องดื่มสมุนไพร รวมถึงการดูแลสุขภาพด้วยล้านนาสปาจากคณะพยาบาลศาสตร์ ที่ได้รับรองมาตรฐานบริการสปาล้านนา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุก เน้นการเป็นศูนย์กลางสร้างสรรค์วัฒนธรรมล้านนาเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าจากสินค้า บริการ หรือการท่องเที่ยวในชุมชนล้านนา ในการนำไปใช้ประโยชน์ให้ชุมชนสามารถต่อยอดและเติบโตได้ด้วยตนเอง สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชนที่ยั่งยืน
Home อาหารท่องเที่ยวพักผ่อนโรงแรม มช.ร่วมฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่นหลังโควิด19 รุกแคมเปญ Visit Chiang Mai, I Miss You