มช. ทรานฟอร์มแพทย์ในยุคดิจิทัล เปิดหลักสูตร “แพทย์นักวิทยาการข้อมูล” ควบ 2 ปริญญา

0
1620
image_pdfimage_printPrint

ในช่วง 5-10 ปีที่โลกได้เข้าสู่ยุคแห่งการพลิกโฉมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านการนำข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ทั้งด้านการจัดการข้อมูลผู้ป่วย การทำนายกระบวนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยคณะแพทยศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่ตรงกับความต้องการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อสังคมและประเทศไทย สอดรับตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และดิจิทัลไทยแลนด์ จึงร่วมกับกลุ่มบูรณาการวิชาการด้านวิทยาการข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี รวมถึงสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดหลักสูตร “โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล” (หลักสูตร 2 ปริญญา, เรียน 7 ปี) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รวมกับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการข้อมูล) เพื่อผู้สำเร็จการศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ทั้งด้านแพทยศาสตร์ ทักษะทางด้านการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลไปประยุกต์ แก้ไขปัญหา หรือสังเคราะห์ความเข้าใจเชิงลึกได้ นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับวิชาการทางการแพทย์ยุคใหม่

โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล เป็นโครงการต้นแบบของประเทศ ที่มีการเชื่อมโยงระหว่าง 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาแพทย์ (หลักสูตรปริญญาตรี) และสาขาวิชาวิทยาการข้อมูล (หลักสูตรปริญญาโท) บูรณาการร่วมกันจากสายงานวิทยาการและวิศวกรรมด้านคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติ สายงานบริหารจัดการสารสนเทศและธุรกิจ โดยผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ และสำเร็จการศึกษา จะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้ในด้านการประมวลข้อมูลภาพ เสียง วีดิทัศน์ หรือข้อความ เพื่อประยุกต์ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย ได้แก่ การค้นหาจุดผิดปกติในภาพรังสี (X-ray หรือ CT) หรือการพัฒนาโมเดลข้อมูลในการทำนายโอกาสการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ รวมไปถึงด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศในสถานพยาบาล ทั้งในส่วนข้อมูลการรักษาพยาบาล (Medical data) และข้อมูลในระดับองค์กร (Corporate data) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาล ตลอดจนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งจากภายในและภายนอกสถานพยาบาล ข้อมูลประเภทอักษรแบบไม่มีรูปแบบ (Unstructured data) ข้อมูลจากเสียงจากบทสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอในเชิงนโยบายที่มีข้อมูลรองรับได้ ซึ่งความได้เปรียบของผู้ที่เรียนในหลักสูตรนี้ คือโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจริง และมีคณาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญ ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรโดยตรง
ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับการยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากล ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และ ผู้เรียนยุคใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่ง บัณฑิตแพทย์นวัตกรรมที่มีศักยภาพขั้นสูงอย่างเต็มตัว สร้างคุณประโยชน์ ร่วมรับผิดชอบต่อชุมชนและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ต่อไป
# # #