คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ โดยรับคนพิการร่วมโครงการในปีนี้ เป็นรุ่นที่ 6 จำนวน 56 คน พิธีเปิดโครงการจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รศ.ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาคน พัฒนาความรู้ สร้างวัฒนธรรมการมีจิตสาธารณะให้เกิดกับบุคลากรและนักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างสังคมให้เข้มแข็งและเท่าเทียม มจธ.พร้อมที่จะพัฒนาความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมกระจายสู่สังคม นำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับคนพิการในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตให้สะดวกขึ้น ประกอบกับการแสวงหาเครือข่ายหลายกลุ่มในการร่วมกันพัฒนางานด้านนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากขึ้น ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยมีคนพิการทำงานในคณะและภาควิชา 7-8 คน ประชาคม มจธ. มีความภาคภูมิใจที่ได้ทำโครงการเพื่อคนพิการ เราเชื่อว่าสังคมที่เปิดโอกาสให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในการทำงานเป็นสังคมที่สมบูรณ์และงดงาม
นายสุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ กล่าวว่า มจธ. ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือคนพิการให้สามารถประกอบอาชีพได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยการจัดฝึกอบรม-ฝึกงานในอาชีพที่เหมาะสมกับความต้องการของสถานประกอบการและคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 การดำเนินงานที่ผ่านมารวม 5 รุ่น มีคนพิการเข้าร่วมโครงการ 156 คน ได้รับการจ้างงานจากผู้ประกอบการจำนวน 80 คน คิดเป็นร้อยละ 53.8 นอกจากนั้นแล้วโครงการนี้ยังก่อให้เกิดโครงการใหม่ๆ ได้แก่ การประกวดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ และมีผลงานของนักศึกษา มจธ. ที่ได้รับรางวัลจำนวนมาก ได้แก่ โครงการแขนเทียม 3D Printer, รถยกคนพิการ, หัวลากรถวีลแชร์ เป็นต้น
การดำเนินงานรุ่นที่ 6 ในปีนี้จัดอบรม 2 หลักสูตร หลักสูตรละ 6 เดือน ประกอบด้วยหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน สำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวและออทิสติก และหลักสูตรอาชีพด้านประสาทสัมผัสสำหรับคนพิการทางการมองเห็นโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัญสัมชัญ
หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน มีวิชาที่เหมาะสมกับอาชีพ ได้แก่ การพัฒนาทักษะทางสังคมวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วม พัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ ความรู้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ด้านวิชาชีพเจ้าหน้าที่สำนักงาน โดยเรียนในห้องเรียน 4 เดือน และฝึกงานจริงในสถานประกอบการ 2 เดือน พร้อมการติดตามประเมินผลจากผู้ประกอบการ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป
หลักสูตรอาชีพด้านประสาทสัมผัส มีวิชาที่เหมาะกับอาชีพ ได้แก่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสังคมสำหรับคนพิการ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทดสอบทางประสาทสัมผัส กลิ่นและกลิ่นรสในผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารและฝึกงาน 2.5 เดือน
สถานประกอบการ 6 แห่ง ที่ให้การสนับสนุนโครงการ ประกอบด้วย บริษัท ศรีไทย มิยากาว่า จำกัด บริษัท ดานิลี่ จำกัด บริษัท เสถียร อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยสมบูรณ์การทอ จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย