มจธ. เดินหน้าผลักดันยกระดับศักยภาพคนพิการสู่สถานประกอบการ รุ่นที่ 4

0
434
image_pdfimage_printPrint

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 ที่กำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทางานในอัตรา 100:1 แต่เนื่องจากคนพิการขาดทักษะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงเริ่มต้นโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการรุ่นแรกในปี 2556 จนถึงปัจจุบันรุ่นที่ 4 มีคนพิการที่เข้าโครงการรวม 102 คน และได้งานทำงานแล้ว 36 คน

ล่าสุดจัดพิธีปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 4 มอบประกาศนียบัตร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีกลุ่มคนพิการที่เข้าร่วม จำนวน 23 คน ซึ่งจะได้รับการฝึกอบรมทักษะด้านวิชาการ ความรู้พื้นฐานทั่วไป และความรู้ด้านวิชาชีพ “เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน” ระยะเวลา 4 เดือน รวมทั้งได้รับการเสริมสร้างประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ระยะเวลา 2 เดือน ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ทักษะในการสื่อสารเข้าสังคม การปรับตัว ความมั่นใจ การประยุกต์ความรู้ในการทำงานจริงให้กับคนพิการ โดยมีผู้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมรวม 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ดานิลี่ จำกัด จำกัด บริษัท ศรีไทย มิยากาวา จำกัด บริษัท ไทยสมบูรณ์ การทอ จำกัด บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด

อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการ กล่าวว่า การพัฒนาคน พัฒนาความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมถือเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสม ส่วนผู้ประกอบการได้คนพิการที่สามารถทำงานได้ดี มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้ดีขึ้นทุกปี ซึ่งหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ได้จัดตามความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการรับคนพิการเข้าทำงานในส่วนสำนักงาน และการฝึกอาชีพเสริมที่เหมาะสม เช่น การทำขนม ปั้นดินดอกไม้ประดิษฐ์ รวมทั้งมีการฝึกงานจริงในสถานประกอบการ โดยมุ่งที่จะทำให้คนพิการที่ร่วมโครงการมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ ใช้ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้ และใช้ชีวิตการทำงานได้อย่างปกติร่วมกับสังคมได้อย่างดี ปัจจุบันมีคนพิการที่ผ่านการอบรมจากโครงการปฏิบัติงานที่ มจธ. 6 คน และมีความต้องการเพิ่มจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยต้องการสร้างสังคมการทำงานร่วมกันเพื่อคนพิการในหลายด้าน เช่น โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มีอาจารย์ และพนักงานร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรม บูรณาการในวิชาเรียน ด้านการพัฒนาทักษะทางสังคม วัฒนธรรมและการมีส่วนร่วม ด้านการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศ ด้านการพัฒนาทักษะความรู้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ทำให้นักศึกษาเข้าใจคนพิการ เป็นโอกาสที่จะทำให้อาจารย์ นักศึกษา สนใจทำงานวิจัยเพื่อคนพิการมากขึ้น มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนทุนวิจัยให้นักศึกษาที่ทำโครงงานเพื่อคนพิการ จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ ในอนาคตมหาวิทยาลัยมองถึงการสร้างบรรยากาศในการฝึกอบรมที่คนใน มจธ. มีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเป็นมากกว่าการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ

นายสาคร สำคัญควร (ป๊อก) อายุ 19 ปี คนจังหวัดบุรีรัมย์ เล่าว่า ประสบอุบัติเหตุเมื่อสองปีก่อนทำให้ต้องตัดแขนทั้งสองข้าง แต่เป็นคนที่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และคิดว่าความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตจึงเข้าฝึกอบรมที่โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา และรู้จักโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการของ มจธ. จากรุ่นพี่ที่เคยเข้าฝึกอบรมและปัจจุบันทำงานอยู่ที่ มจธ. แนะนำให้สมัคร ผมอยากมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นในการทำงานด้านเอกสารสำนักงานต่างๆ และได้มีโอกาสฝึกงานที่แผนกบุคคล บริษัท ฮงเส็ง การทอ จำกัด มีหน้าที่จัดทำระบบฐานข้อมูลของพนักงาน ทำบัตรพนักงาน ด้วยความที่มีทักษะทางด้านการวาดรูป ทางบริษัทได้โอกาสได้ทดลองฝึกงานในด้านการออกแบบอีกด้วย สิ่งที่ได้รับจากโครงการ คือ ได้เรียนรู้ว่าสังคมในปัจจุบันเปิดโอกาสให้คนพิการมากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น

นางสาวขนิษฐา ปานแดง (ขิม) อายุ 19 ปี เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งกระดูกทำให้เธอต้องตัดขาสองข้าง กล่าวว่า ได้เข้าฝึกงานที่บริษัท เอสซอม จำกัด ทำหน้าที่ช่วยงานด้านบัญชี ได้ใช้ความรู้ที่ฝึกอบรมจากโครงการมาทำงานได้ดี โดยเฉพาะโปรแกรม Excel โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พิสูจน์ว่าเราจะสามารถทำงานได้หรือไม่ ถ้าเรามีความสามารถผู้ประกอบการจะเห็น และให้โอกาสในการทำงาน จึงอยากชวนคนอื่นๆ ลองมาสมัครเข้าโครงการ

คุณกิ่งแก้ว เนียมศรี หัวหน้างานบริหาร บริษัท เอสซอม จำกัด เล่าว่า บริษัทได้มีโอกาสรับคนพิการมาฝึกงานเป็นครั้งแรก ซึ่งในการทำงานจะพิจารณาลักษณะงานที่คนพิการสามารถทำได้ เช่น จัดเรียงเอกสาร พิมพ์งาน งานด้านบัญชี มีการแนะนำการใช้ชีวิตในการทำงาน เช่น เมื่อทำงานเสร็จควรแจ้งให้หัวหน้างานทราบ แนะนำเรื่องการติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์ และการทำงานในด้านอื่นๆ เพื่อให้เค้าเรียนรู้ให้มากที่สุด ซึ่งคนพิการก็สามารถปรับตัวได้ดี พยายามช่วยเหลือตนเอง นอกจากนี้ยังมีการเอาใจใส่ในเรื่องการทำงาน เช่น เมื่อมอบหมายงานแล้ว จะต้องสังเกตว่าเค้ามีปัญหา ติดขัด ไม่เข้าใจในงานหรือไม่ เพื่อให้เค้ามีความรู้สึกมั่นใจ ซึ่งความจริงแล้วคนพิการที่มาฝึกงาน เค้าก็เหมือนคนปกติทั่วไป ที่สามารถใช้ชีวิตได้โดยปกติ เพียงแค่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน เราจึงต้องเปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝน ได้เรียนรู้ให้มากๆ สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงานของคนพิการ เพื่อให้การทำงานของคนพิการมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด