มจธ. จัดงาน Hatch Startup Demo Day 2017 เปิดตัว 8 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พร้อมเปิดตัว Hatch co-working space

0
467
image_pdfimage_printPrint

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผลักดันให้นักศึกษาอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,800 คนในแต่ละปี ได้มีการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้นักศึกษาอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นำองค์ความรู้และผลงานเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากมหาวิทยาลัยออกสู่การทำเป็นธุรกิจจริง จึงตั้ง Hatch ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการระดับนักศึกษาขึ้นในปี 2559 เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากร และส่งเสริมให้มีการนำองค์ความรู้และชิ้นงานเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นภายในมหาวิทยาลัยออกไปต่อยอดในรูปแบบธุรกิจ Startup เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมา Hatch ได้จัดโครงการบ่มเพาะทั้งในระดับเบื้องต้นที่มุ่งเน้นการทำความเข้าใจโจทย์ความต้องการที่มีในสังคมและพัฒนาชิ้นงานที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ไปจนถึงระดับที่มีความพร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจจริง รวมถึงกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับประเด็น Startup ในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ล่าสุดศูนย์ Hatch ได้จัดงาน Hatch Startup Demo Day 2017 เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อาคารเคเอกซ์) ถนนกรุงธนบุรี เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เปิดตัว 8 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยที่นำเสนอผลงานนวัตกรรมและแนวคิดเชิงธุรกิจต่อนักลงทุนภาคเอกชน อาทิ
“อิสระ” ผลิตภัณฑ์กล่องอนามัยพกพาสำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่ถูกออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย และเพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น
ZCard ของเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ประกอบด้วยการ์ดคำศัพท์หมวดต่างๆ ซึ่งจะใช้ควบคู่กับแอพพลิเคชันที่อาศัยเทคโนโลยี AR มาช่วยกระตุ้นความสนใจและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยองค์ประกอบต่างๆ ในเกมได้รับการพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ที่เหมาะสม
BLISS หุ่นยนต์ที่สามารถนำไปใช้ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ทาง ด้านสติปัญญาและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กออทิสติก โดยหุ่นยนต์มีรูปร่างคล้ายของเล่นซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กและทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำกิจกรรมบำบัดร่วมกับเด็กออทิสติกได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ทางศูนย์ Hatch ได้เปิดตัวพื้นที่สำหรับการให้บริการเพื่อสร้างชุมชนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ภายใต้การผลักดันการสร้างเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นทำธุรกิจ คือ การมีพื้นที่ในการทำงานจริง เป็นการช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการทางธุรกิจได้ นอกจากนี้ด้วยความหลากหลายของผู้ใช้พื้นที่ของอาคารเคเอกซ์ เหมาะสมต่อการแลกเปลี่ยนและร่วมมือในการทำธุรกิจยุคใหม่ เพราะมีบรรยากาศที่กระตุ้นต่อการเรียนรู้ และสะดวกต่อการเดินทางของบุคคลภายนอก เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะของ Hatch มีพื้นที่ในการทำงานทั้งแบบโต๊ะเดี่ยวและห้องประชุมรวม รวมทั้งอุปกรณ์สำนักงานพื้นฐาน พื้นที่ในการทำงานที่อยู่ในบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ลงมือทำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นพื้นที่ในการนัดหมายกับบุคคลภายนอกและจัดกิจกรรมกลุ่มได้ นอกจากส่วนของการใช้งานพื้นที่แล้ว ยังมีเป้าหมายสำคัญในการสร้าง community ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สามารถจะแลกเปลี่ยนความคิดความสามารถและร่วมกันพัฒนา Startup ไปด้วยกัน
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและภาคีความร่วมมือ มจธ. กล่าวว่า “มจธ. โดย ศูนย์ Hatch ได้เปิดให้บริการพื้นที่ co-working space ณ ชั้น 13 อาคารเคเอกซ์ ลักษณะของพื้นที่ co-working space จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของผู้เข้ามาใช้บริการและการสร้าง community ของผู้ประกอบการจะทำให้เกิดความหลากหลายของทักษะและความสนใจของผู้ที่เข้ามาใช้งาน ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต”
ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ สนใจอยากเข้าร่วมเป็นกลุ่ม Startup สามารถติดตามรายละเอียด หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page: Kmutt.hatch / Email: hello@hatch.kmutt.ac.th