ภาวะน้ำจืดเป็นพิษจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ส่งผลต่อระบบประสาทและตับของสุนัข

0
1578
image_pdfimage_printPrint

สาหร่ายเป็นพืชชั้นต่ำที่มีคลอโรฟิลล์ สามารถสังเคราะห์แสงได้เอง  มีความสำคัญกับระบบนิเวศน์ในการรักษาสมดุลธรรมชาติ  ซึ่งสาหร่ายยังสามารถสร้างสารพิเศษบางชนิดที่มีประโยชน์และโทษ  โดยในปัจจุบันนี้มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อการค้ามากขึ้น  จนส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของสาหร่ายไปตามแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติมากขึ้นและน้อยคนนักที่จะรู้ว่าสาหร่ายบางชนิดสามารถทำให้เกิดพิษต่อร่างกายของมนุษย์และสัตว์ได้

IMG_2035 Cladophora

นางสาวศยามล สิทธิสาร นิสิตปริญญาเอกสาขาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า  สาหร่ายที่มีพิษเช่น   Microcystis aeruginosa  จัดว่าเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งในกลุ่ม cyanobacteria  ที่มีคุณสมบัติส่วนหนึ่งเหมือนพืชสามารถสังเคราะห์แสงได้และมีสีเขียวอมน้ำเงิน  (photosynthetic pigments) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า  Blue-green algae  พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดโดยจะเพิ่มปริมาณมากในช่วงอากาศร้อน          ซึ่งสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green algae)  สามารถผลิตสร้างพิษที่มีชื่อว่า microcystins  และ  anatoxins     โดยสาหร่ายจะปลดปล่อยสารพิษออกจากเซลล์เมื่อเซลล์แตก  ซึ่งการเพิ่มปริมาณของสาหร่ายนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ  เช่น  แหล่งน้ำที่นิ่งสงบ  อุณหภูมิของแหล่งน้ำประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส และแหล่งน้ำที่พบสารไนเตรทและฟอสเฟตปนเปื้อนอยู่ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารให้กับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินจึงทำให้มีการเจริญเติบโตของสาหร่ายได้รวดเร็ว และส่วนใหญ่จะพบการเกิดพิษของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้ในสัตว์เลี้ยงที่บริโภคน้ำเข้าไป  หรือในสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นๆ  ในต่างประเทศมีการควบคุมปริมาณของ microcystins โดยองค์การอนามัยโลก (world health organization; WHO) ไว้ไม่ให้เกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการประกาศควบคุมสารพิษนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้พบว่ามีการปนเปื้อนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบริเวณแม่น้ำปราจีนบุรีทำให้ปลาทั้งในกระชังและปลาตามธรรมชาติตายเป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งสุนัขที่ลงไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ microcystins สามารถทำลายตับได้  ถ้าสุนัขได้รับพิษเข้าไปจะแสดงอาการหนาวสั่น  ท้องเสีย  อ่อนเพลีย  ตัวซีด จนถึงช็อคได้ถ้าได้รับสารพิษในปริมาณมาก microcystins แยกออกได้เป็นหลายชนิด เช่น Hepatotoxins จะไปทำลายตับ,  Neurotoxins จะไปทำลายระบบประสาท เป็นต้น microcystins มีความคงตัวค่อนข้างสูง เนื่องมาจากโครงสร้างทางเคมี (รูป1) จึงทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ทั้งในน้ำที่มีอุณหภุมิเย็นก็ได้อุ่นก็ได้ นอกจากนี้ยังทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีการค้นพบ microcystins มากกว่า 50 ชนิด

ผลกระทบในด้านด้านการบริโภคสัตว์น้ำหรือแม้กระทั่งอาหารจานหรูอย่างเช่นหูฉลามก็สามารถส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ โดยมีผลการวิจัยในหัวข้อ “Cyanobacterial Neurotoxin β-N-Methylamino-L-alanine (BMAA) in Shark Fins” พบว่าสารพิษที่ชื่อ บีต้า-เอ็น-เมธิล อะมิโน-แอล-อะลานีน ( β-N-Methylamino-L-alanine; BMAA)  ซึ่งสาร BMAA ถูกผลิตขึ้นในธรรมชาติโดยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน โดยสาร BMAA จะส่งผลร้ายต่อระบบประสาทโดยจะไปทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมได้ ทำให้เกิดโรคของระบบประสาทได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรค Amyotrophic lateral sclerosis (ALS) โดยนักวิจัยของสหรัฐอเมริการพบว่าในผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้จะพบปริมาณสาร BMAA ในสมองสูง ซึ่งในคนปกติจะไม่พบสารนี้หรือพบน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วย

สาหร่ายในกลุ่มนี้ มีอยู่หลายสกุลมาก  แต่สกุลที่มีรายงานว่าทำให้เกิดพิษต่อสัตว์  ได้แก่  สกุล AnabaenaAphanizomenonMicrocystis, NodulariaNostoc และ Oscillatoria    โดยพิษจากสาหร่ายชนิดนี้จะก่อให้เกิดผลต่อระบบประสาท  ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง   มีฤทธิ์ที่มีผลต่อตับส่งผลให้เกิดมะเร็งตับได้   ส่วนการจะสังเกตอย่างไรว่าสาหร่ายชนิดไหนมีพิษหรือไม่มีพิษ  คือต้องทดสอบในห้องปฏิบัติการเท่านั้น  ซึ่งหากสัมผัสกับน้ำที่มีพิษของสาหร่ายชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการแพ้  แสบ  คัน   ระคายเคือง  ถ้าเข้าตาทำให้ตาอักเสบ  และหากปนเปื้อนเข้าไปในน้ำดื่มในปริมาณมากจะทำอันตรายต่อตับ  ก่อให้เกิดเนื้องอก และตับล้มเหลว  หรือเป็นมะเร็ง   นอกจากนั้นปลาและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสาหร่ายนี้จะได้รับสารพิษสะสมในตับเมื่อคนกินปลาเข้าไปก็จะได้รับพิษเช่นกัน  โดยน้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองน้ำที่มีสาร  Activated Carbon  สามารถลดพิษลงได้ถึง 80%  ดังนั้นข้อควรระวังสำหรับท่านที่เลี้ยงสุนัขและมีที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีสาหร่ายเจริญเติบโตอยู่  ก็ควรงดให้สุนัขลงไปเล่นน้ำ  หรือดื่มน้ำจากแหล่งน้ำนั้น  แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับพิษจากสาหร่ายจนเกิดอาการป่วยเพราะพิษนี้จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อได้รับสารพิษในปริมาณมากและสม่ำเสมอ