1

ภาคประชาชนยื่นนายก ค้านCPTPPเชื่อเสียมากกว่าได้

ภาคประชาชนยื่นนายก ค้านCPTPPเชื่อเสียมากกว่าได้ ชูคำขวัญ “เก็บเมล็ดพันธ์ไม่ใช่อาชญากร” ปลุกประชาชนทั่วประเทศร่วมต้าน เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่หากรัฐบาลยังเดินหน้าไม่ฟังเสียงประชาชน
วันที่ 14 ก.ค. 2563 เวลา10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ขบวน “ถกแถลง CPTPP เพื่ออนาคตประเทศไทย” ร่วมกับเครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย และองค์กรภาคีกว่า100 คน ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายสุพร อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเครือข่ายได้ร่วมกันทำกิจกรรมบูชาแม่โภสพ เพื่อปกป้องเมล็ดพันธ์ และอ่านบทกวีคัดค้าน CPTPP ก่อนการยื่นหนังสือ
นางสาวทิศนา ชุณหะวัณ มาร์แชล แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่าย
ได้เดินทางตั้งแต่วันที่1-13ก.ค.เพื่อสะท้อนข้อดีข้อเสีย ข้อกังวล ของการเข้าร่วม CPTPP ให้พี่น้อง จากภาคใต้ ภาคใต้กลาง อีสาน ตะวันออก และภาคเหนือ จากนั้นจึงได้รวบรวมความเห็นของพี่น้องทุกจังหวัด ที่เป็นแนวทางเดียวกันคือ รัฐต้องยุติการเข้าร่วม CPTPP การเข้าร่วมคือการยอมเสียอธิปไตยของประเทศ
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยื่นและมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้1.การเข้าร่วม CPTPP คือการเสียอธิปไตยของประเทศ ความมีอธิปไตยโดยเฉพาะในปัจจัยพื้นฐานนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้ง เมล็ดพันธุ์ ยา นโยบายสาธารณะ หากสิ่งเหล่านี้ถูกอิทธิพลจากต่างชาติเป็นผู้กำหนดเราจะสูญเสียอิสรภาพของประเทศ ทั้งยาและเมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชนทุกคนต้องพึ่งพายาและความมั่นคงทางอาหาร การสูญเสียสิ่งเหล่านี้ให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะอันตราย
2.การคุ้มครองนักลงทุนไทยหรือนักประดิษฐ์ไทยไม่สามารถกระทำได้ หากรัฐบาลพาประเทศเข้าสู่ CPTPP เพราะจะต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนไทยและต่างชาติอย่างเสมอกัน ประเทศไทยจะต้องคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ขั้น portforio นอกจากนี้ยังห้ามรัฐบาลไทยให้สิทธิพิเศษกับรัฐวิสาหกิจไทยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความอ่อนแอของประเทศในระยะยาว ความสามารถของคนไทยจะลดลงและท้ายที่สุดเราจะอยู่ในภาวะไม่แตกต่างจาก ‘เมืองขึ้นในทางเศรษฐกิจ’ 3. การออกนโยบายสาธารณะจะไม่สามารถกระทำได้อย่างอิสระอีกต่อไปการออกนโยบายสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนแต่หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะกระทำได้อย่างมีข้อจำกัดและถูกแทรกแซงจากรัฐภาคีหรือบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย 50 ฉบับเพื่อให้สอดรับกับกฎของ CPTPP การที่ประเทศจะต้องสูญเสียอธิปไตยในการกำหนดนโยบายและต้องกำหนดนโยบายตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่บรรษัทต่างชาติจะได้ประโยชน์เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียอำนาจอธิปไตย
4.หากรัฐบาลต้องการตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นสามารถดำเนินการด้วยวิธีอื่น หากรัฐบาลอ้างว่าต้องการตลาดส่งออกในบรรดาสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีแล้วกับ 9 ประเทศ เหลือเพียงประเทศแคนาดากับแม๊กซิโก เท่านั้นที่ยังไม่มีข้อตกลง หากว่าทั้งสองประเทศดังกล่าวเป็นตลาดสำคัญอย่างยิ่งจนสามารถเพิ่มจีดีพีได้ หนึ่งหมื่นสามพันล้าน ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง รัฐบาลสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอีก 2 ประเทศไทย โดยไม่ต้องนำพาประเทศเข้าสู่ข้อตกลงที่ทำให้ประเทศสูญเสียอธิปไตย และ
5.หากรัฐบาลยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนประชาชนจะปกป้องประเทศเอง การที่รัฐบาลมีความพยายามหลายรอบในการนำเข้าวาระสู่การพิจารณาของ ครม. อีกทั้งยังมีมติจากคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงคำแถลงของโฆษกรัฐบาลถึงข้อความของนายกรัฐมนตรีว่าให้ศึกษาถ้าอยากเข้าสู่การเจรจา ความพยายามดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนาของรัฐบาลในการเข้าร่วม นั่นหมายถึงรัฐบาลกำลังพาประเทศเข้าสู่การสูญเสียอธิปไตย ในปัจจัยพื้นฐานและการกำหนดนโยบายสาธารณะซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน เช่นนั้นพวกเราในฐานะประชาชนขอปกป้องประเทศนี้จากการที่รัฐบาลผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ CPTPP จนถึงที่สุด โดยมิต้องให้รัฐบาลเดินหน้าด้วยประการใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกต่อไป หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป ประชาชนจะมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกการเข้าสู่ CPTPP
/////////////////////