พิเศษสุดสำหรับคอเพลงคลาสสิก จะได้สัมผัสกับความงดงามของสถาปัตยกรรมพระราชวังพญาไท ก่อนดื่มด่ำกับบทเพลงสุดพิเศษ 13 พฤษภาคมนี้
เมื่อเอ่ยถึงพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท ที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี หลายคนนึกถึงความเป็นเลิศในสุนทรียทัศน์และโสตทัศน์ของพระที่นั่งแห่งนี้ เป็นท้องพระโรงเดิมไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นับแต่รัชสมัย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังพญาไท เมื่อปี พ.ศ. 2453
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ มีลักษณะโดดเด่นที่หลังคามุมโค้งประทุน 4 ด้านรับโดมทรงกลม หัวเสาแกะสลักลวดลายศิลปะมัวร์ ด้านบนผนังมีจิตรกรรมและรูปลายพรรณพฤกษา ซึ่งสะท้อนสถาปัตยกรรมแบบไบเซนไทน์ ด้านหนึ่งปรากฏ พระประมาภิไธยย่อ ส.ผ. (พระนามเมื่อแรกประสูติ “เสาวภาผ่องศรี”) ท้องพระโรงนี้เคยเป็นที่สำหรับเสด็จลงประกอบพระราชพิธีทางศาสนา และงานพระราชพิธีมงคลต่าง ๆ เป็นการภายใน เวลาปกติเป็นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ที่มาเฝ้า หรือราชอาคันตุกะต่างประเทศเป็นการส่วนพระองค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้มีการแสดงหรือซ้อมละครและประชุมเสนาบดีในบางโอกาส
ปัจจุบันพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแสดงดนตรีคลาสสิกอย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อขณะยังมีพระชนม์ชีพที่ได้เสด็จมาเป็นประธานในงานดนตรีคลาสสิกซึ่งจัดขึ้น ณ พระที่นั่งองค์นี้ถึง 12 ครั้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2546 ชมรมคนรักวังฯ ถือเป็นศุภฤกษ์ ได้รับพระราชานุญาตจัดงาน “คืนเทิดพระกรุณาธิคุณค้ำจุนดนตรี” น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในศุภสมัยคล้ายวันประสูติ 80 พรรษา
และในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคมนี้ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะจัดการการแสดงดนตรี The 11th Princess Galyani Vadhana Concert at Phya Thai Palace “Grand Sextets at the Palace” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงสนพระทัยและทรงให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านดนตรีคลาสสิกมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ โดยนำเสนอบทเพลง Sextet ที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรี 6 ชิ้นของโมสาร์ท และดโวชาค โดยวงโปรมูสิกา
โดยบทเพลง Grand Sextet Concertante, K. 364 (after Sinfornia Concertante for Violin & Vilola) W. A. Mozart บทเพลงนี้เป็นผลงานดนตรีประเภทคอนแชร์โตสำหรับเครื่องสายที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของโมสาร์ท ประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1779 ความองอาจและสง่างามของดนตรีในกระบวนที่ 1 นำเข้าสู่ท่วงทำนองในลีลาแบบเพลงร้องในกระบวนที่ 2 ด้วยการบรรเลงโต้ตอบกันของไวโอลินและวิโอล่า ที่โอบอุ้มความรู้สึกที่ขัดแย้งกันได้อย่างไพเราะ เช่น ความน่ารักกับเรื่องน่าสลดใจ อารมณ์ที่เพ้อฝันกับความจริงของชีวิต และจบกระบวนสุดท้ายด้วยความยิ่งใหญ่อย่างงดงาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้เรียบเรียงเพลงนี้ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1808 สำหรับการบรรเลงด้วยวงเครื่องสาย 6 ชิ้น โดยมีแนวเดี่ยวไวโอลินและวิโอล่าเล่นประชันกับเครื่องสายทั้ง 4 ชิ้นได้อย่างน่าสนใจ
ส่วนอีกหนึ่งบทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ของรายการนี้คือ String Sextet in A Major, Op. 48 A. Dvorak อันโตญีน ดโวชาคประพันธ์บทเพลงนี้ในปี ค.ศ. 1878 โดยผสมผสานแนวดนตรีเต้นรำพื้นบ้านของชาวสลาฟ เข้ากับแนวดนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบแบบเวียนนีสของ ชูเบิร์ตและบราห์มส์ ในกระบวนแรก ไวโอลินและเชลโล ร่วมกันบรรเลงแนวทำนองหลักที่ไพเราะจับใจ กระบวนที่ 2 Dumka คือดนตรีพื้นบ้านของชาวสลาฟ (โดยเฉพาะพวกยูเครเนียน) ในแนวการเล่าเรื่องราวเพื่อระลึกถึงพวกวีรบุรุษ กระบวนที่ 3 Furiant เป็นเพลงเต้นรำอย่างเร็วมากของชาวเชค และในกระบวนสุดท้าย วิโอล่าเริ่มเล่นทำนองหลักแล้วจึงมีการแปรทำนอง 5 ครั้ง เข้าสู่ช่วงจบของเพลงอย่างมีพลัง
และพิเศษสุดของรายการนี้ ก่อนที่โปรแกรมการแสดงจะเริ่มขึ้นในเวลา 19.00 น.วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการจัดงานฯได้จัดวิทยากรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จะนำชมพระราชวังพญาไท โดยจะเริ่มเวลา 17.00 น. บัตรราคา 1,000 และ 1,500 บาท (รวมการนำชมวัง และอาหารระหว่างพักการแสดง) ติดต่อจองบัตรได้ที่มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-354-7987, 02-354-7732 , Email: palacefanclub@live.com และ FB Page : Music at Phya Thai Palace