1

พัฒนาฝีมือแรงงานงานลำพูน ยกระดับสมรรถนะแรงงานด้านการผลิต ด้วย Robots For Industrial (หุ่นยนต์อุตสาหกรรม)

สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน พัฒนาศักยภาพแรงงาน ยกระดับสมรรถนะแรงงานด้านการผลิต ในสถานประกอบกิจการ ฝึกอบรม สาขา Robots For Industrial (หุ่นยนต์อุตสาหกรรม) ให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมเครื่องจักรในการผลิตของสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ได้เข้าใจความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม และสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระหว่างวันที่ 22 – 25 กรกฎาคม 2562 จำนวน 20 คน ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน โดยมีนางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูนได้เป็นประธานเปิดฝึกอบรม

นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน กล่าวว่า ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การเกิดตลาดใหม่ การเพิ่มขึ้นของคู่แข่งในภูมิภาค และประเทศคู่แข่งทางการผลิตที่มีความพร้อมของค่าจ้างแรงงาน สร้างผลกระทบต่อผู้รับจ้างผลิตของไทย ทั้งด้านต้นทุน คุณภาพ และความสามารถในการผลิต ซึ่งทำให้รูปแบบการผลิตที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันกับคู่แข่งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และสายการผลิตแบบอัตโนมัตินั้นได้มีการใช้งานกันในระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่มักเป็นผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่หรือมาจากการย้ายฐานหรือเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติมาพร้อมกับการเริ่มต้นธุรกิจ สถานการณ์ปัจจุบันระบบการผลิตแบบอัตโนมัติได้มีการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ และมีราคาที่ผู้ประกอบกิจการผลิตอุตสาหกรรม ขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ และมีโซลูชั่นมากมายหลายรูปแบบ นอกจากเทคโนโลยีอัตโนมัติแล้ว หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อการผลิต และเป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนระบบอัตโนมัติเดิมมาเป็นการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในสายการผลิต มากขึ้นและไปอย่างต่อเนื่อง และนั้นหมายถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในกระบวนการผลิต
ซึ่งแรงงานจะได้รับผลกระทบโดยตรงจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติการควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การบังคับควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ตามแนวแกน x,y,z การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด และการบำรุงรักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของหุ่นยนต์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยความถูกต้องและแม่นยำ