พวอ. เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

0
417
image_pdfimage_printPrint

1.-ภาพหมู่

สกว. เปิดเวทีนำเสนอผลงานนักวิจัย ป.โท-เอก ในการประชุมวิชาการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 “วิทยาศาสตร์ประยุกต์กับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” หวังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาล

1 สิงหาคม 2559 — โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานประชุมวิชาการ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ ‘วิทยาศาสตร์ประยุกต์กับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต/ APPLIED SCIENCES TO NEW GROWTH ENGINES’ โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถานำ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้รวบรวมผลงานอันเป็นประโยชน์มานำเสนอด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยให้เกิดความตื่นตัวในการดำเนินงานวิจัย สร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาทุนรุ่นพี่ และรุ่นน้อง อาจารย์ผู้ได้รับทุนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างความรู้จักกันระหว่างนักวิจัยจากภาคเอกชนและภาคการศึกษา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า ความท้าทายของนักวิจัยคือ จะต่อยอดได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะสุกงอมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ขณะนี้เรามีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีประเด็นหลักๆ อยู่ 3 ประเด็น คือ 1. ประเทศไทยต้องก้าวข้ามระบบวิจัยเดิมๆ ให้ไปสู่นวัตกรรมเพื่อประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 2. ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างการกระจายรายได้ และ 3. ต้องพัฒนาอย่างสมดุลโดยไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย

สำหรับในเรื่องของนวัตกรรมว่าจะช่วยประเทศได้อย่างไร ขณะนี้ สกว. ปรับตัวไหวทันสอดรับกับโจทย์ใหญ่ๆ ของรัฐบาล ทำอย่างไรคนหรือทรัพยากรจึงจะมีปริมาณมากขึ้น ทางภาครัฐบาลเองก็พยายามผลักดันในเรื่องของกฎเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีอากรต่างๆ

“เราคือนักรบที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศ ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ทำงานกระจัดกระจาย กำลังทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ที่เอกชนไม่ใช่ภาครัฐ อยากฝากถึงนักวิจัยว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ศักยภาพของเราให้เต็มที่มากขึ้น ทำโจทย์วิจัยให้ชัดเจนขึ้น ให้ความสามารถของแต่ละคนเป็นชิ้นส่วนขับเคลื่อนโครงการของประเทศ ต้องย้อนกลับมาดูว่าเราเดินหนาไปถึงไหนแล้ว อย่ายืนอยู่ที่เก่า อย่าทำวิจัยเก่าๆ นักวิชาการต้องใช้อาวุธที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกับเอกชนให้เข้ามาลงทุนกันมากขึ้น เอาจิ๊กซอว์หลายๆ อย่างที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมต่อกัน จึงขอฝากความหวังไว้ที่พวกเราทุกคนในการระดมสรรพกำลังและมีส่วนร่วมในการนำส่วนที่เชี่ยวชาญมาเชื่อมต่อกับโจทย์ของประเทศ” ดร.พิเชฐ กล่าวเสริม

รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยโดยโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐที่ช่วยสนับสนุนผลักดันผ่านการให้ทุนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นตัวเร่งและสร้างความตระหนักของผู้ประกอบการให้เห็นคุณค่าของนวัตกรรมหรืองานวิจัย รวมถึงช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย/นักวิจัยหน่วยงานของรัฐ ให้ร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากผลของโครงการวิจัยที่ได้ให้ทุนไปนี้

การประชุมวิชาการในปีนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนทุนผู้ช่วยวิจัย โดยจัดกลุ่มตามสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และกลุ่มงานวิจัยสนับสนุนอื่นๆ รวมไปถึงการปาฐกถาจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ งานวิจัยดีต่ออุตสาหกรรมอย่างไร โดย คุณศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และ กรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด การนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หอยทากสยาม นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) อีกด้วย

“พวอ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานประชุมวิชาการครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงานทั้งในด้านองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัย และความร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงช่วยจุดประกายให้เกิดการต่อยอด เพื่อให้เกิดการพัฒนาเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางของประเทศไปได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ กล่าวเสริม