พระสงฆ์ทั่วเอเชียผนึกกำลังเชื่อมเครือข่ายระว่างพุทธศาสนาและการทำงานด้านมนุษยธรรม
พระสงฆ์ทั่วเอเชียแสดงคำมั่นในการผนึกกำลังพุทธศาสนา สู่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ร่วมกับองค์กรมนุษยธรรมต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์บนโลกใบนี้
ปฏิญญาว่าด้วยผลจากการประชุม ”พุทธศาสนาและมนุษยธรรมในเอเชีย” ได้ถูกประกาศขึ้นในวันสุดท้ายของงานประชุม 3 วัน ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และมูลนิธิวิมุตตยาลัย โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เป็นการนำวิสัยทัศน์ของมูลนิธิวิมุตตยาลัยเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนาเพื่อสังคม มาเชื่อมโยงกับการทำงานของ UNHCR บนพื้นฐานของหลักความเชื่อทางศาสนาและการให้ความคุ้มครองสากล งานประชุม ”พุทธศาสนาและมนุษยธรรมในเอเชีย” มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน ประกอบด้วย พระสงฆ์ สถาบันการศึกษา และนักเรียนจาก 13 ประเทศ อาทิ บังคลาเทศ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว พม่า ศรีลังกา เวียดนาม และไทย
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้กล่าวว่า “คำสอนของทุกๆศาสนานั้น ต่างมุ่งเน้นความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนั้นด้วยเงื่อนไขของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและทรัพยากรที่จำกัดในปัจจุบัน เราทุกคนจึงต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อปกป้องและดูแลคนรุ่นต่อในอนาคต
นายอินดริกา รัตวัตติ ว่าที่ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNHCR ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “ความเชื่อทางศาสนาไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อเป้าหมายของการเข่นฆ่า หรือเป็นสาเหตุของการพลัดถิ่น การร่วมกันแบ่งปันแนวคิดที่มีพื้นฐานเดียวกันของทุกศาสนา จะเป็นการช่วยกำหนดกรอบการทำงานที่เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมความอดทนอดกลั้น และการเปิดใจรับความคิดเห็นของคนต่างศาสนามากขึ้น”
นายอินดริกา ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญขององค์กรด้านศาสนาที่มีต่อแนวทางการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะการเน้นย้ำเรื่องการให้อภัยซึ่งกันและกัน รวมถึงสันติภาพจากการอยู่ร่วมกันในสังคม
และด้วยจำนวนประชากรชาวพุทธกว่า 250 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลักคำสอนเรื่อง ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการไม่แบ่งแยกนั้น ถือเป็นหัวใจหลักที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของ UNHCR และองค์กรด้านมนุษยธรรมอื่นๆ
การประชุม ”พุทธศาสนาและมนุษยธรรมในเอเชีย” ที่จ.เชียงรายในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันค้นหาคุณค่าที่เหมือนกันในมุมมองของพระพุทธศาสนา และมนุษยธรรม ประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งทางสังคม การเสริมสร้างพลังทางสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายในการประชุมยังประกอบไปด้วยกลุ่มเสวนาย่อยซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์การรับมือกับปัญหาข้างต้นในประเทศของตนเอง รวมถึงการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก การแก้ไขปัญหาโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ และบทบาทหน้าที่ขององค์กรด้านศาสนาที่มีต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โดยจากการเสวนากลุ่มย่อยหัวข้อ การก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งทางสังคม นั้นได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ รวมถึงความต้องการที่จะนำหลักคำสอนของพุทธศาสนามาปรับใช้อย่างจริงจังในระดับชุมชน จากการเสวนายังได้ข้อสรุปอีกว่า การจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน อย่างเช่น ผู้ลี้ภัย บุคคลไร้รัฐ แรงงานอพยพ ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและความขัดแย้ง นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย ได้กล่าวปิดงานในวันสุดท้ายคือวันอาทิตย์ ด้วยความหวังที่ว่า จากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากในครั้งนี้ “จะทำให้เรามีมือจำนวนมากที่ร่วมเปลี่ยนแปลงโลก” รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนลงมือทำเพื่อให้ยุคของเราเป็นสังคมแห่ง “ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน สังคมแห่งความรัก และการแบ่งปัน”