พรวิษณุโลจิสติกส์ เดินหน้าใช้เทคโนโลยีสู้ตลาดโลจิสติกส์แข่งเดือด

0
545
image_pdfimage_printPrint

พรวิษณุ โลจิสติกส์ เดินหน้าใช้เทคโนโลยีสู้ตลาดโลจิสติกส์แข่งเดือด
• ราคารูด 30% จากการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลจิสติกส์
• ย้ำปีนี้แค่ประคองตัว หันทุ่มกว่า 600 ล้านบาทขยายธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทางเลือก
• เดินหน้าใช้รถบรรทุกเทคโนโลยีสูง เปลี่ยนใช้ B20 ทั้งฟลีทช่วยลดต้นทุน และลดมลพิษทางอากาศ

กลุ่มบริษัทพรวิษณุ โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งพืชผลทางการเกษตรรายใหญ่ของไทย ประเมินการแข่งขันของธุรกิจการขนส่งที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตัดราคาระหว่างผู้ให้บริการขนส่งไม่ต่ำกว่า 30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีรถให้บริการระหว่าง 1 – 3 คัน ต้องเลิกกิจการไป
นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรวิษณุ โลจิสติกส์ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการขนส่งข้ามพรหมแดนไทย-จีน และการเข้าทำธุรกิจของนายทุนจีน ทำให้ตัดราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีรถบรรทุกให้บริการระหว่าง 1 – 3 คันประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการขนาดกลางและขนาดใหญ่ และหากการแข่งขันยังรุนแรงต่อไป จะสร้างปัญหาต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
“ทุกวันนี้ ทุกรายแย่งกันหางาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวมานาน ราคาจึงเป็นตัววัดว่าจะได้งานหรือไม่ กลุ่มเราเองก็จำเป็นต้องทำราคาแข่งกับคู่แข่งด้วย เพียงแต่เรามีจุดแข็งที่เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแรง และแนวทางการลงทุนด้านรถบรรทุกที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด” นายบัญชา กล่าว
กลุ่มบริษัทพรวิษณุ โลจิสติกส์ เริ่มต้นดำเนินกิจการจากธุรกิจการเกษตรและค้าข้าว กว่า 50 ปี โดยมีแปลงนาข้าวและโรงสีเป็นของตัวเอง กลุ่มบริษัทพรวิษณุ โลจิสติกส์ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2549 โดยก่อตั้ง หจก.เชียงของพืชผล ที่จังหวัดเชียงราย และปี พ.ศ. 2550 ก่อตั้ง หจก. เชียงใหม่ อินเตอร์ไรส์ และปี พ.ศ. 2560 ก่อตั้ง บจก.พรวิษณุ โลจิสติกส์ ซึ่งการดำเนินธุรกิจพืชผลทางการเกษตรจำเป็นต้องมีกองรถบรรทุกเป็นของตัวเอง โดยปัจจุบันมีรถบรรทุกให้บริการทั้งสิ้นประมาณ 150 คัน

นายบัญชา กล่าวว่ากดารก่อตั้งบริษัท พรวิษณุ โลจิสติกส์ ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าการเกษตรจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยขนส่งสินค้า 2 ขา ซึ่งตลอดระยะการให้บริการเส้นทางดังกล่าว มีการแข่งขันทางด้านราคาอย่างรุนแรง จึงทำให้กลุ่มบริษัทพรวิษณุ โลจิสติกส์ ต้องปรับแนวทางการลงทุนจากการลงทุนรถที่เน้นราคามาเป็นการลงทุนในรถที่เน้นเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการให้บริการ
“ปีที่ผ่านมา เราเริ่มปรับแนวลงทุนโดยเราสั่งซื้อรถหัวลากยูดี ทรัคส์ จำนวน 21 คัน เพื่อทดแทนรถเก่าที่ปลดระวางและขยายกองรถ เราพบว่าในบรรดารถบรรทุกญี่ปุ่น ยูดี ทรัคส์ เป็นรถที่มีนวัตกรรมผสมระหว่างเทคโนโลยีญี่ปุ่นและยุโรป อีกทั้งอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเป็นที่พอใจ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในตัวรถ ที่ทำให้คนขับรถบรรทุกต้องการมาร่วมงานกับเราเพราะรถยูดี เควสเตอร์ ที่มีเกียร์กึ่งอัตโนมัติ Escot ทำให้ขับสบาย และปลอดภัยเมื่อต้องเดินทางไกลหรือขับขึ้นเขา นอกจากนี้ยังมีเครื่องยนต์ที่เผาผลาญสมบูรณ์ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 อีกด้วย” นายบัญชา กล่าว และเสริมอีกว่าปัจจุบันทางบริษัทได้หันมาใช้น้ำมันดีเซล B20 เกือบ 100% ทั้งกองรถ เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนหลักทางธุรกิจ และยังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายบัญชา กล่าวว่าปีที่ผ่านมารายได้ธุรกิจของกลุ่มบริษัท พรวิษณุ โลจิสติกส์ มีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 100% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 โดยธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสัดส่วนประมาณ 70% ของธุรกิจทั้งหมด
“ช่วงที่มีปัญหาไวรัสโคโรนาในประเทศจีนขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามันส่งผลกระทบกับธุรกิจของทุกคนที่ทำกับประเทศจีนเพราะทุกกิจกรรมถูกระงับโดยรัฐบาลจีน เราจึงคิดว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่เราต้องประคองธุรกิจของเราไม่ให้ตกต่ำไปกว่าปีที่แล้ว” นายบัญชา กล่าว
นายบัญชากล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัท พรวิษณุ โลจิสติกส์ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นข้อเสนอการลงทุนแก่กระทรวงการคลังในโรงผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์และชีวมวลที่จังหวัดนครสวรรค์ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ ด้วยงบประมาณลงทุนไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาทเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 6 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 3 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าชีวะมวล เพื่อป้อนให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยคาดว่าจะคืนทุนภายใน 10 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อรับผิดชอบธุรกิจไฟฟ้า

“ตอนนี้เราเตรียมพื้นที่ไว้ราว 50 ไร่เพื่อตั้งโรงไฟฟ้าทั้งสองโรง ซึ่งสาเหตุที่เราสนใจธุรกิจนี้เพราะนโยบายรัฐบาลเปิดกว้างให้กับทุกรายที่สนใจ เราเห็นอนาคตของธุรกิจนี้ อีกทั้งสอดคล้องกันนโยบายของเราที่ต้องการขยายแนวธุรกิจของเรา อีกทั้งธุรกิจนี้มีส่วนช่วยสังคมโดยรวมที่ต้องการพลังงานสะอาด รวมถึงเราเองมีวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าชีวะมวล เช่น วัสดุเหลือจากการปลูกมันสำปะหลัง ไม้เบญจพันธุ์ ฟางข้าว ใบอ้อยและแกลบ ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วิธีเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป เมื่อเรารับซื้อ การเผาก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการบังคับใช้กฎหมายห้ามการเผาเศษวัสดุเกษตรเหล่านี้ ซึ่งนี่จะเป็นอีกหนึ่งแผนงานที่ผมภูมิใจมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5” นายบัญชา กล่าว