พพ. ศึกษานวัตกรรมโซล่าร์ลอยน้ำ
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดระยอง เยี่ยมชมโซล่าร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกในประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท ระยอง โอเลฟินส์ จำกัดในเครือเอสซีจี เคมิคอลส์ เพื่อศึกษาจุดอ่อนจุดแข็ง ทั้งในด้านการออกแบบ ขั้นตอนการติดตั้ง และการเลือกใช้วัสดุ รวมไปถึงการดูแลรักษาของระบบโซล่าร์ลอยน้ำ ซึ่งทางเอสซีจีฯ ได้พัฒนาและติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย โดยใช้เนื้อที่ 7 ไร่ ในเอสซีจีเคมิคอลส์ จ.ระยอง ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษ มาพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งติดตั้งง่ายและประหยัดพื้นที่ได้ถึง 10% เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่นๆ ทั้งยังมีอายุการใช้งานถึง 25 ปี โดยใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าใช่จ่ายได้ปีละ 5 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาคืนทุนเพียง 8 ปี
“โซล่าร์ลอยน้ำ เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่คาดว่าในอนาคตจะมีอุตสาหกรรมนี้เข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น โดยเอสซีจีเป็นที่แรกดำเนินการเสร็จในเชิงพานิชย์ จึงสนใจมาศึกษาจุดอ่อนจุดแข็ง ทั้งในด้านการออกแบบ ขั้นตอนการติดตั้ง และการเลือกใช้วัสดุ รวมไปถึงการดูแลรักษาของระบบโซล่าร์ลอยน้ำ เมื่อทำแล้วต้องมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในในอนาคต หาก พพ. จะมีการผลักดันการส่งเสริมโซล่าร์ลอยน้ำ (Floating Solar Farm) โดยขณะนี้พพ. กำลังเริ่มศึกษาระบบโซล่าร์ลอยน้ำเพื่อติดตั้งให้กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 5-7 แห่ง เช่น เขื่อนคิรีธาร เขื่อนแม่มาว ฯลฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พพ. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2562” นายประพนธ์ กล่าว