ถ้าพูดถึงพิมพ์นิยมของสาวไทยสมัยนี้ นอกจากจะต้องทั้งสวย หมวยแล้วนั้น ยังต้องมีผิวขาวใส เรียบเนียนเหมือนฟองเต้าหู้ เอาเป็นว่าตรงสเปคหนุ่มๆเค้าเลยแหละ เพราะการที่ผิวพรรณดี บวกกับความสวยที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ใครเห็นเป็นต้องอยากมอง สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น อีกทั้งยังต่อยอดไปถึงโอกาสต่างๆในอนาคตได้อีก ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าการที่มีผิวขาว สวย เรียบเนียน จะช่วยให้เราดูสะอาด และแลดูอ่อนกว่าวัย อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวในท้องตลาดส่วนมากมักจะใช้ส่วนผสมที่มี Skin Whitening Agents ต่างๆ เป็น active ในการออกฤทธิ์ช่วยให้ผิวขาวใส หรือพวกกรดสกัดจากผลไม้ธรรมชาติ เช่น กรดซิตริกจากส้มและมะนาว กรดแลคติคจากนมเปรี้ยว หรือกรดมาลิกจากแอปเปิ้ล เป็นต้น จะทำให้เกิดการระคายเคือง ผื่นคันแดง และทำให้ผิวบาง แพ้แสงแดดง่าย ซึ่งในระยะยาวอาจก่อให้เกิด ฝ้าได้
ดังนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนที่มีปัญหาสุขภาพผิวได้ดี โดยเฉพาะคนที่มีผิวบอบบาง แพ้ง่าย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ส่วนใหญ่ได้ความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่มีคุณประโยชน์ต่อผิว ยังช่วยลดการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวได้อีกด้วย
ดร.สุวรรณ ตั้งจิตรเจริญ นายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย ในพระสังฆ ราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้พยายามค้นคว้า ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสมุนไพรมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือเครื่องสำอางกันอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุดได้มีการค้นพบ สารสกัดว่านหน้าขาว (ว่านตาลเดี่ยว) หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Star Grass extract เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งได้จดสิทธิบัตรกรรมวิธีการเตรียมและสกัดวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาว ภายใต้เครื่องหมายการค้า STALEAF™ และมีคุณสมบัติเป็น Potent Tyrosinase Inhibitor สามารถยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดสีเมลานิน (Melanin) หรือช่วยให้ผิวขาวขึ้นนั่นเอง อีกทั้งยังเป็น Collagen Synthesis Stimulator ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ชั้นผิวหนังเทียบเท่าวิตามินซี เหมาะสำหรับในการใช้เป็นสารสกัดธรรมชาติทำให้ผิวขาว (Whitening agent) ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวประเภทต่อต้านริ้วรอย (Anti-Aging) จะยิ่งเพิ่มความเรียบเนียนให้ผิวมากยิ่งขึ้น
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของ “ว่านหน้าขาว” ได้มีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ในเวทีต่างประเทศ จนได้รับรางวัลด้านการแพทย์ในการประกวด World Innovator Award Festival ที่ประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังได้รับเหรียญรางวัลในการประกวดนวัตกรรม อาทิ Novel Research and Innovation Competition 2013 จัดโดย University Sains Malaysia ประเทศมาเลเซีย และ International Warsaw Invention Show (IWIS) 2014 จัดโดย Warsaw University of Technology ประเทศโปแลนด์ รวมถึงได้รางวัลพิเศษจากหน่วยงานต่างๆ เช่น Korea Invention News จากประเทศเกาหลีใต้ และ Chinese Innovation & Invention Society (CIIS)
ว่านหน้าขาว (ว่านตาลเดี่ยว) เป็นพืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปของทุกภาค ในอดีตมักนำมาใช้เพื่อรักษาสิว ฝ้า จุดด่างดำ บำรุงผิวพรรณ มีความปลอดภัยในการใช้สูง และได้จัดอยู่ใน สารานุกรมสมุนไพร เนื่องจากถูกบันทึกว่ามีการนำ รากมาใช้ประโยชน์ในทางยาโดยการ ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต และ ฝนทาแก้สิวฝ้า
ลักษณะต้นไม้ : เป็นพืชไม้ล้มลุก เหง้ากลมหรือรูปรี ลำต้นสูง 2.5-10 ซม. มีขนยาวสีขาวตามแผ่นใบ ใบประดับ ช่อดอก และกลีบรวมด้านนอก ใบมี 4-12 ใบ รูปแถบ ยาว 7-30 ซม. ปลายแหลมยาว โคนโอบรอบลำต้น ไร้ก้าน บาง ช่อดอกแบบช่อกระจะ มี 1-4 ช่อ แต่ละช่อมี 1-2 ดอก ใบประดับ 2 ใบ รูปใบหอก กลีบรวม 6 กลีบ สีเหลือง แยกกัน เรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน กลีบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 0.6-1 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม ก้านชูอับเรณูยาวเท่า ๆ อับเรณู อับเรณูติดที่ฐาน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบรวม โคนเป็นเงี่ยงลูกศร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง ยาว 3-6 มม. มีขนยาว ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรจัก 3 พู ผลแห้งแตก รูปกระบอง ยาว 0.6-1.2 ซม. มี 3 ซีก เมล็ดจำนวนมาก กลม ผิวมีตุ่มกระจาย
แหล่งที่พบ : เป็นพืชพบที่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นทั้งในป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ ในป่าเต็งรังและป่าสน พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทุ่งหญ้าที่เปิดโล่ง ความสูงถึงประมาณ 2,000 เมตร สารสกัดจากรากบำรุงกำลัง มีสรรพคุณกระตุ้นความต้องการทางเพศ
หญ้าดอกคำ : ใบเรียวยาวเรียงรอบต้น ช่อดอกมี 1-2 ดอก กลีบรวมแยกกัน เรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน เกสรเพศผู้ติดที่โคนกลีบรวม โคนอับเรณูเป็นเงี่ยงลูกศร (ภาพ: เขาพนมเบญจา กระบี่ – ราชันย์ ภู่มา)
สกุล Hypoxis L. : มี 50-100 ชนิด พบทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ยกเว้นใน ยุโรป ในไทยมี 2-3 ชนิด ได้แก่ ว่านพร้าว 1 และว่านสากเหล็ก (เคยอยู่ในวงศ์ Amaranthceae หรือ Amaryllidceae เช่น หญ้าพันงู พวกบานไม่รู้โรย ผักโขม ผักโขมหนาม ผักเป็ดน้ำ ผักแพรวแดง พลับพลึง ว่าน หงอนไก่)
สารสกัดจากรากบำรุงกำลัง : มีสรรพคุณกระตุ้นความต้องการทางเพศ บำรุงผิวพรรณ
เอกสารอ้างอิงจาก :
1. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ). เผยแพร่เมื่อ 30 ตุลาคม 2560. เข้าถึงเมื่อ 14 ธันวาคม 2561. เข้าถึงได้จากhttp://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B3&typeword=group
2. กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทสุรีย์รัตน์จำกัด, 2491.
3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2540.
4. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) หญ้าดอกคำ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 เดือน มกราคม ปี2562, จาก www.dnp.go.th.
5. Wikipedia Hypoxidaceae. เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 เดือน มกราคม ปี2562, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hypoxidaceae