กรุงเทพฯ ประเทศไทย/ 19 สิงหาคม 2562 – สำนักข่าว ไชน่า เดลี่ รายงานผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มองว่าการเชื่อมต่อ 5G จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตรวดเร็วขึ้นนั้น ล้วนเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมจากประเทศจีนอย่างหัวเว่ย และบริษัทอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศของตน
มิสอมาลินา อาเนอร์ นักวิเคราะห์จากศูนย์การศึกษาพหุภาคี (Centre for Multilateralism Studies) แห่งสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า แผนงานด้านเศรษฐกิจและองค์ประกอบด้านนโยบายต่างประเทศเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ประเทศในอาเซียนเปิดรับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย
“เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและมีราคาจับต้องได้เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการในระดับเดียวกัน” มิสอาเนอร์กล่าว พร้อมทั้งกล่าวเสริมอีกว่า “การเลือกใช้บริการจากเวนเดอร์หลายรายและการเลี่ยงการกีดกันหัวเว่ยไม่ให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศถือเป็นตัวเลือกทางนโยบายที่มีความสมดุลกว่า เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใด”
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด เป็นผู้ให้บริการอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลกและผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก สหรัฐอเมริกาได้กล่าวหาหัวเว่ยในข้อหาจารกรรมข้อมูล แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใด ๆ มารองรับ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งหัวเว่ยก็ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
มร. เจค ซอนเดอส์ รองประธานด้านบริการให้คำปรึกษาในเอเชีย-แปซิฟิก ของเอบีไอ รีเสิร์ช บริษัทข่าวกรองด้านการตลาด กล่าวว่า “จริง ๆ แล้ว ผมไม่เห็นว่าจะมีหลักฐานใด (ในข้อกล่าวหาการสอดแนมข้อมูล) ในเรื่องของความปลอดภัย ถ้าอยากให้การสื่อสารปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ละบริษัทก็ติดตั้งระบบการเข้ารหัสลับของตนเองได้ เพื่อให้การรับส่งข้อมูลมีความปลอดภัย”
เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความเร็วระดับกิกะบิต โดยล็อบบี้ยิสต์ด้านโทรคมนาคมอย่าง GSMA คาดการณ์ว่า การเชื่อมต่อแบบไร้สายทั้งโลกจะเปลี่ยนเป็น 5G ถึงร้อยละ 15 ภายในปี 2568 โดยเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่ใช้ 5G ที่ใหญ่ที่สุด
มิสฟาร์ลินา ซาอิด นักวิเคราะห์จากหลักสูตรการศึกษานโยบายและความปลอดภัยต่างประเทศ สถาบันการศึกษาด้านกลยุทธ์และการต่างประเทศ ในมาเลเซีย กล่าวว่า “การทดลองหาโอกาสในการใช้งาน 5G สำหรับอนาคต ได้กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว” โดย 5G จะเป็นดั่งตัวเร่งให้อาเซียนสร้างเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการจัดการภัยพิบัติ การเข้าถึงการศึกษา และความยั่งยืนของสังคม
กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก เป็นตลาดสำคัญสำหรับธุรกิจระดับโลกมาโดยตลอด และหัวเว่ยได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มานานกว่า 20 ปี ในงานประชุมเมื่อต้นปี มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ย ได้คาดการณ์ว่า 5G จะสร้างโอกาสทางอุตสาหกรรมแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนผู้ใช้ 5G ถึง 80 ล้าน
สำหรับประเทศไทยได้มีการทดสอบเครือข่าย 5G ของหัวเว่ยในจังหวัดชลบุรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ลงนามข้อตกลงการพัฒนา 5G ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท สมาร์ท เอเซียตา ของกัมพูชา ได้ประกาศความร่วมมือกับหัวเว่ยในการพัฒนาเครือข่าย 5G ในประเทศ
และเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ประกาศว่า บริษัทมีสัญญา 5G เชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 50 ฉบับ และได้จัดส่งสถานีฐาน 5G ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปแล้วกว่า 150,000 สถานี
มร. ซอนเดอส์ จากบริษัท เอบีไอ รีเสิร์ช กล่าวว่า “เทคโนโลยีของหัวเว่ยนั้นถือว่าล้ำสมัยสุดๆ แล้ว พวกเขาคอยคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และแข่งขันด้วยราคา สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมหัวเว่ยจึงเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นมากๆ” พร้อมกล่าวอีกว่า “หลักๆ แล้ว ประเทศอาเซียนต้องการตัวเลือก นี่เป็นที่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขามากๆ”
มิสอาเนอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง เสริมว่า “การเข้าถึง 5G อย่างเต็มรูปแบบต้องอาศัยนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทั้งความต้องการด้านความปลอดภัยและการพัฒนา”
และเธอยังกล่าวอีกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลือกผู้ให้บริการโซลูชั่น 5G ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด และอาเซียนก็ไม่มุ่งหวังที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใด”