ผู้ว่าอุบลฯ ชี้บทเรียนน้ำท่วมใหญ่ เร่งบูรณาการสร้าง“อุบลฯ สมาร์ท ซิตี้” แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

0
303
image_pdfimage_printPrint

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สถานการณ์ปีนี้น้ำท่วมหนักที่อุบลฯ เกิดจาก เพราะว่าเราเจอ 2 สถานการณ์ โดยปกติอุบลฯน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากเป็นปลายน้ำ เวลาระบายน้ำมาจากลำน้ำชี , ลำน้ำมูล ตลอดจนแม่น้ำโขง (ปีไหนที่ท่วมสูง จะหนุนตัวปิดทางออกแม่น้ำ) , ลำน้ำโดม และ ลำน้ำเซบก เซบาย ปีนี้น้ำ 5 สายมาพร้อมกัน เนื่องจากฝนตกทางภาคอีสานหนัก สถานการณ์ที่ 2 คือฝนตกหนักช่วงปลายสิงหา – ต้นเดือนกันยา 9 วันตก 500 มิลลิเมตร เพราะฉะนั้น เมื่อน้ำขังจากฝนที่ตกหนักบวกกับน้ำบ่าที่ระบายลงมาจากลุ่มน้ำ 5 สายตอนบน ทำให้ปีนี้ท่วมหนักมาก ทั้งในแง่ของความรุนแรงก็มาก ท่วมสูงก็สูงกว่าทุกปี และกระจายพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่เกษตรก็กว่า 6.3 แสนไร่ ท่วมทุกอำเภอในจังหวัดๆมีทั้งหมด 25 อำเภอ โดยน้ำจะไหลไปที่ต่ำรวมอยู่ที่ชุมชนริมน้ำ จะเหลือท่วมเพียง 21 อำเภอและท่วมหนักสุดท้ายอยู่ที่ 7 อำเภอในบริเวณใกล้ลุ่มน้ำมูล อยู่จนหมดน้ำลดจริงๆในวันที่ 8 ตุลาคม เราแก้ปัญหาเร่งระบายน้ำโดยเปิดเขี่อนปากมูลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ใช้เครื่องดันน้ำตั้งไว้ 2 จุด ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ 40 กิโลเมตร
เรามีระบบดัชนีเตือนภัย ถ้า 11.5 (12 คือระดับตลิ่ง) จะมีการแจ้งเตือนไปในระดับท้องถิ่น ประกาศให้ประชาชน รับรู้ เตือนไปแล้วแต่น้ำจากลุ่มน้ำโขงและน้ำชีเยอะมาก ยกระดับภายใน 3 วันตั้งแต่วันที่ 7 – 9 ก.ย. เกือบ 3 เมตร ทำให้การอพยพของประชาชนไม่ทัน เราเตือนก่อนหน้านั้นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน อันดับต่อมาคือเตรียมอพยพคน สำรวจว่า บ้านที่เคยท่วมๆเท่าไหร่ เตรียมทั้งเรือทั้งรถ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยทหาร เตรียมช่วยขนของออกจากบ้าน ปีนี้โกลาหล เนื่องจากชาวบ้านไม่ค่อยเชื่อ เหตุการณ์ไม่เคยเกิด ท่วมเยอะขนาดนี้ เขาเคยอยู่กับน้ำ เวลาน้ำมาก็ทยอยมาเบาๆ ขึ้นแล้วก็ค่อยๆลง เพราะโดยปกติแล้วน้ำตอนบนที่มาบรรจบกันจะทยอยมา ไม่ได้มีมวลน้ำก้อนใหญ่ขนาดนี้ ชาวบ้านบางส่วนจึงไม่เชื่อ ทำให้ข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก เราอพยพคนไปศูนย์พักพิงบนที่สูง แต่หลังจากนั้น 3 – 4 วัน ศูนย์พักพิงบนที่สูงนั้นก็ถูกน้ำท่วมด้วย จึงโกลาหลรอบ 2 เรามีชุด อปพร.ทุกอำเภอ คอยรับการติดต่อจากผู้ประสบภัย ทึ่ อปพร.ก็เกิดน้ำท่วมด้วย ทำให้เกิดการโกลาหลอีก กว่าจะเข้าระบบได้ใช้เวลาเกือบ 2 วัน เพื่อช่วยผู้ประสบภัยออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัยแต่ชาวบ้านบางส่วนก็เป็นห่วงทรัพย์สินไม่ยอมออกมา ใน 2 สัปดาห์แรก น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างมากเกือบทุกอำเภอ เราดูแลชาวบ้านที่ออกมา แต่บางส่วนที่ไม่ออกมา ก็เป็นปัญหาสำหรับเราว่าจะดูแลกันอย่างไร เมื่อข่าวสารออกไปทางสื่อมากขื้น ก็มีสรรพกำลัง เข้ามาช่วยเหลือเราอย่างมากมาย ท้่วประเทศ เราใช้กำลังคนทั้งหมดร่วมกันแก้ปัญหา ช่วยขนย้าย ช่วยสร้างที่พักพิง จัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ห้องสุขา บางสิ่งเมื่อทำไปแล้วหลังจากนั้นก็มีน้ำท่วมตามมา ก็ต้องแก้ไขซ้ำอีก โดยน้ำท่วมเริ่มตั้งแต่ 29 ส.ค. ถึง 26 ก.ย. และในวันที่ 5 ต.ค. เราส่งประชาชนกลับบ้านทุกหลังคาเรือน รวม 2 หมื่นกว่าหลัง มีความเสียหายกว่า 16,000 หลัง
หน่วยงานทั้งหมดที่ช่วยเหลือ อาทิ หน่วยงานที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ช่วยเหลือในการอพยพประชาชน ในการเข้าไปซ่อมสร้างบ้านเรือนราษฎร ให้กลับไปอยู่อาศัยได้ เราใช้มาตรการที่เรียกว่า 3 ค.
ค.เคลียร์ ความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นนำข้าวของที่เสียหายออกมาเพื่อจัดการพื้นที่ ซ่อมแซมเรื่องของระบบไฟฟ้า โดยหน่วยไฟฟ้าช่างอาสาเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ก่อนที่จะเข้าไปอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย
ค.คลีน ช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน และนำสิ่งของกลับเข้าบ้าน
ค.แคร์ ดูแลเรื่องสิ่งของอุปโภคบริโภค มีการแจกจ่าย มีครัวพระราชทาน ตามศูนย์พักพิงและมีหน่วยงานช่วยประกอบอาหาร เครื่องจำเป็น แจกจ่ายบริการประชาชน การแพทย์เข้าไปดูแล
ศูนย์พักพิงทั้งหมด 68 ศูนย์ จะมีผู้รับผิดชอบ มีการดูแลตั้งแต่ความเป็นอยู่ สุขภาพและการใช้เวลาว่างพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมอาชีพ ดูแลเด็ก คนชราตลอดจน ผู้ป่วย และเมื่อกลับไปเราก็ตามไปดูแล โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐพร้อมทั้งทีมของจังหวัด
อุทกภัยครั้งนี้รัฐบาลยกระดับจากเดิมที่เคยเป็นระดับ 2 เป็นระดับ 3 โดยให้งบเพิ่มจาก 20 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทให้ผู้ว่าฯดูแล เบิกจ่ายตั้งศูนย์ต่างๆเพื่อคอยประสานงาน ใช้จ่ายบรรเทาทุกข์ ตั้งศูนย์บริหารจัดการถุงยังชีพ จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของสิ่งที่ได้รับบริจาค เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัย จัดสรรเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิต(10 ราย ที่เนื่องจากสำลักน้ำ รายละ 25,000 บาท) ซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายกว่า 16,000 หลัง(หลังละ 5,000 บาท) สร้างบ้านใหม่ 10 หลัง (เนื่องจากบ้านทรุดและพัง ได้รับจากกองทุนบริจาคจากสำนักนายก ที่จัดงานรับบริจาค วงเงิน อยู่ที่ 220,000 บาทต่อหลัง) บ้านที่เสียหาย 30 – 70 เปอร์เซ็นต์(ได้รับเงินจากรัฐบาลประมาณ 70,000 บาทต่อหลัง(ตามสภาพและความเสียหาย)) บ้านที่เสียหายเล็กน้อย (ได้รับเงินหลังละประมาณ 17,000 บาท) เบ็ดเสร็จแล้วยังต้องขอเงินชดเชยให้กับราษฎรอยู่ที่ 15,425 หลัง และปัจจุบันนี้ราษฎรสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ปกติแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะครบทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้
ต้องขอขอบคุณ ภาคประชาชนและองค์กรในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้ลงไปช่วย ให้ประชาชนชาวอุบลฯได้รับการแก้ไขอย่างเร็วและทั่วถึง เช่น หน่วยที่ใช้กำลัง งานดูแลเข้าไปเคลียร์พื้นที่ จัดการสิ่งกีดขวาง ขนย้าย ก็จะเป็นหน่วยทหารช่าง กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้าไปตั้งศูนย์ในเรื่องของการชี้เป้า เพื่อรับเรื่องจากประชาชนและประสานงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ กรมชลประทานช่วยเร่งระบายน้ำ การจราจรน้ำได้ไว จัดการน้ำได้ดี บวกกับน้ำโขงลงเร็วและได้ใช้เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง ตั้งที่สะพานโขงเจียมปากแม่น้ำโขง 200 เครื่อง สะพานปากน้ำมูล 100 เครื่อง กองทัพเรือ นำเรือดำน้ำ 25 ลำ มาช่วยที่แม่น้ำโขงจึงทำให้ผลักดันน้ำได้ทันเวลา หน่วยงานบรรเทาทุกข์ กรมป้องกันภัย ปภ.จากหลายจังหวัด เรือท้องแบนจากหลายหน่วยงาน ป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู เพราะปีนี้เราใช้ได้เฉพาะเรือ รถไม่สามารถไปได้ถนนตัดขาด การไฟฟ้าที่ดูแลตัดไฟ เข้าไปจัดระบบไฟฟ้าหลังน้ำลด พัฒนาเซ็นเซอร์มิเตอร์ไฟฟ้า หน่วยงานทางการแพทย์ และทุกภาคส่วนตลอดจนด้านการเกษตรก็ต้องมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ที่มีความเสียหาย
ในอนาคตเราก็มีการวางแผน เพื่อจัดการน้ำให้ระบายได้เร็ว ทำบายพาสน้ำ(ที่แก่งสะพือ) ทำอุโมง ขุดคลองซอยย่อย ให้น้ำมูลระบายออกหลายๆข้าง มีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ทำแผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งการกักเก็บน้ำต้นทุนเพื่อนำไปใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทำแก้มลิง เพิ่มประตูบังคับน้ำ โดยมีแผนกลุ่มจังหวัด อุบลฯ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และ ยโสธร ทั้ง 4 จังหวัดมีน้ำใช้ร่วมกันคือ โขง ชี มูล เป็นแผนระยะ 5 ปี สร้างศูนย์พักพิงถาวร สร้างสะพาน 2 ชั้น จากสะพานน้ำมูลไปอำเภอวารินชําราบ
เพื่อบูรณาการยกระดับการแจ้งเตือนประชาชน เราได้นำข้อมูลบ้านที่น้ำท่วม มาลงพิกัดในแผนที่ ผ่านระบบแอปพลิเคชันแอปพลิเคชันนี้เป็นความร่วมมือกับ ดีป้า(depa) โดยส่ง 2 คณะ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล มีการนำแผนที่ของหน่วยงานต่างๆ มาซ้อนทับกัน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลใช้ร่วมกัน เฝ้าระวัง ติดตาม แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด ไม่ว่าจะเป็น แผนที่การไหลของน้ำ แผนที่ทางการเกษตร แผนที่ตำแหน่งมิเตอร์ไฟฟ้า แผนที่ประปา แผนที่เส้นทางการจราจร กล้องCCTV แผนที่ตำแหน่งเซ็นเซอร์ประตูเปิดปิดน้ำ แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม และอื่นๆอีก ที่สามารถนำเข้ามาเพิ่มเติมและมีการอัพเดทข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ระบบการติดตามและมอนิเตอร์ผู้อพยพ ผู้ได้รับผลกระทบ จะสามารถรับข้อมูลและส่งข้อมูลไปถึงผู้เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด แบบทันท่วงที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้วยังสามารถ นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆอีกได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นด้าน ปริมาณน้ำในการเกษตร , การระบุจำนวน,ลักษณะและพิกัดของผู้ประสบภัย , การติดตามเงินชดเชยเยียวยา , Smart Tourism , Smart Security , Smart Living , Smart Bus ฯลฯ ถือเป็นโอกาสดีที่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ขึ้น เราจึงได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อใช้ฐานข้อมูลร่วมกันและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ฝากถึงพี่น้องประชาชน 2 เรื่อง เรื่องแรก ให้มีความเข้าใจต่อมาตรการและวิธีปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง เพราะอุบัติภัยเกิดขึ้นได้เสมอ ตลอดจนให้พี่น้องประชาชนและผู้ปฏิบัติงานรักษาวินัย เรื่องที่ 2 ความเป็น Smart City ส่วนสำคัญอยู่ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ให้ข้อมูล ร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อพัฒนาระบบ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ พร้อมร่วมแก้ปัญหา ร่วมแจ้งข้อมูล เพื่อเตือนก่อนภัยมา ตลอดจนเมื่อเกิดเหตุแล้ว ภาครัฐจะได้มีข้อมูลในการแก้ปัญหาอย่างครบถ้วนและถูกต้อง