1

ผู้ว่ากทม.ขานรับแผนวิสัยทัศน์พัฒนากรุงเทพมหานคร 2575 ระบุ 20 ปี ข้างหน้ากรุงเทพมหานครจะเป็น “มหานครแห่งเอเชีย”

ผู้ว่ากทม. รับแผนต้นแบบวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานครระยะยาวใน 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2556-2575) หลังจากร่วมกับนักวิชาการจุฬาและประชาชนจัดทำวิจัย ล่าสุดสรุปผลวิจัยวางธงให้กทม. ให้เป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ภายใต้กรอบแนวคิดด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลวงของเอเชีย เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง การแพทย์ การศึกษา การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมของเอเชีย ส่วนโครงสร้างเมืองจะปรับจากเมืองใหญ่ที่เติบโตแบบแออัด ไปเป็นกลุ่มเมืองขนาดเล็กกะทัดรัดหลายๆ เมืองประกอบกัน โดยกรุงเทพชั้นในจะถูกจำกัดขนาด และลดความแออัด และเพิ่มเมืองเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป ส่วนด้านสังคม ตั้งเป้าเป็นเมืองสุขภาวะดี และเป็นมหานครสำหรับคนทุกอาชีพ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่รองรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกวัย โดยกำหนดเป็นแผนระยะเร่งด่วน-ระยะปานกลาง และระยาวอย่างต่อเนื่อง

 

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพันธกิจในการพัฒนามหานครกรุงเทพ  ให้เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดทำโครงการศึกษาวิจัย การจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ขึ้น (พ.ศ.2556 – 2575) ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาเมือง ทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิต ประชากร และการบริหารจัดการ เพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงการใช้ทรัพยากรของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหลักที่ชาวกรุงเทพมหานครและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำพาซึ่งกรุงเทพมหานครไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของโลกนั่นเอง ซึ่งปัจุบันได้ดำเนินการทำแผนดังกล่าวเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญสรุปว่า จะมีการพัฒนากรุงเทพมหานครสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในอีก 20 ปีข้างหน้า และมีการกำหนดเป็นแผนการปฏิบัติการระยะสั้น ระยะกลาง และระยาว เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

“เพื่อให้การผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานคร 2575 เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ จึงต้องมีหลักประกันว่าข้อเสนอด้านต่างๆ ที่ผ่านการประมวลและรวบรวมขึ้นจากเสียงและความคาดหวังของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ต้องได้รับความสำคัญและถูกนำไปใช้เป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร และของส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกเชิงปฏิบัติการในส่วนของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของส่วนงานต่างๆ ให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน พร้อมเปิดโอกาสให้แก่ภาคประชาชน มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองด้วย โดยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร รัฐบาล หรือส่วนงานต่างๆ มีหน้าที่เป็นผู้รับอาสาในการนำฉันทามติของชาวกรุงเทพฯ ไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การกำกับดูแลให้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติของชาวกรุงเทพฯ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นนั่นเอง” ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าว

 

สำหรับเนื้อหาและแนวคิดการผลักดันให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งเอเชีย (Vibrant of Asia) ตามแผนการจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556 – 2575) ระบุว่าใน 20 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะก้าวขึ้นเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวงของเอเชีย คนทั่วโลก เมื่อนึกถึงทวีปเอเชีย จะนึกถึงเมืองกรุงเทพฯ เป็นลำดับแรก โดยมีการพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดี เป็นเมือง Green City ที่น่าอยู่อาศัยสำหรับคนกรุงเทพฯ ทุกคน ให้ได้ภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ ส่วนด้านสังคมจะต้องเป็นมหานครสำหรับคนทุกอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ซึ่งรวมถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการและผู้สูงอายุ สิ่งอำนวยความสะดวกในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเดิน พื้นที่สาธารณะ สัญญาณจราจร ระบบขนส่งมวลชน อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งที่พักอาศัย และระบบบริการสาธารณะต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับประชาชนทั่วไปได้

 

ด้านโครงสร้างของผังเมืองกรุงเทพฯ จะมีปรับเปลี่ยนรูปร่างใหม่ จากเมืองโตเดี่ยว แออัด ไปเป็นกลุ่มเมืองขนาดเล็กกะทัดรัดหลายๆ เมืองประกอบกัน เมืองกรุงเทพชั้นในควรจะถูกจำกัดขนาด และลดความแออัดลงไป ในขณะที่เมืองเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป จะขยายตัวเติบโตขึ้น แต่ละเมืองจะมีฐานเศรษฐกิจ การจ้างงาน ที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล ย่านการค้า คุณคุณภาพสูง อย่างครบครันในตัวเอง มีระบบการบริหารจัดการของตนเอง เชื่อมต่อกันโดยรถไฟฟ้าทันสมัย เดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งโครงสร้างเมืองใหม่ของเมืองกรุงเทพฯนั้น จะมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าเดิม มีขนาดใกล้เคียงกับมณฑลกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต้องใช้องค์การบริหารจัดการอีกระดับหนึ่ง จะเรียกว่า “องค์การมณฑลกรุงเทพมหานคร” (Bangkok Region Authority) ก็ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดระบบการบริหารจัดการเมืองขนาดเล็ก เสียใหม่ ให้สามารถบริหารจัดการตนเองแบบเบ็ดเสร็จได้ด้วย

 

ด้านการเมือง ชาวกรุงเทพฯ ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชาธิปไตย และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย มีระบบการเมืองที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชั่น และในด้านเศรษฐกิจ เมืองกรุงเทพฯ จะก้าวขึ้นสู่การเป็นเมืองหลวงของเอเชีย เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง การแพทย์ การศึกษา การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมของเอเชีย

 

ม.ร.ว.สขุมพันธ์ กล่าวเสริมว่า โครงการกรุงเทพฯ 2575 จะเป็นไปตามแผนที่เสนอมาได้ ต้องมีมาตรการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และในระยะยาว ได้แก่การสร้างเครือข่ายสภาประชาชน  เพื่อกำกับดูแลและติดตามการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575 การจัดตั้งหน่วยตรวจสอบบริการสาธารณะโดยภาคประชาชน (Bangkok service watch), การขยายผลแนวคิด “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575” และการผลักดันการตรากฎหมายเพื่อให้การรับรอง “ฉันทามติวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575” นั่นเอง