วอชิงตัน–26 ก.ค.–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
รายงานความก้าวหน้าของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำปี 2558 แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่ร่วมลงนามต่างมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามพันธกิจเพื่อลดอันตรายอันเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ลง 10% ภายในปี 2568 โดยรายงานนี้ถือเป็นรายงานฉบับที่ 3 และเป็นฉบับแรกหลังจากที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เมื่อปีที่แล้ว
(โลโก้: http://photos.prnewswire.com/prnh/20160524/371287LOGO )
รายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2558 มีการดำเนินโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควร 257 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 49% และมีประเทศต่างๆร่วมทำโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิม 57 ประเทศเป็น 82 ประเทศ โครงการดังกล่าวเข้าถึงผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดเกือบ 30 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู หรือผู้นำชุมชน โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีผู้เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 192 ล้านคนผ่านการให้ความรู้ ผ่านทางสื่อ และการรณรงค์บนโซเชียลมีเดีย
จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอัตราการดื่มก่อนวัยอันควรผ่านการบังคับใช้กฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (LPA) โดยบรรดาผู้ผลิตต่างส่งเสริมให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวผ่านการสร้างความร่วมมือนับล้านครั้งทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และบรรดาผู้ค้าปลีกตลอดปี 2558
“นับเป็นเรื่องดีที่โครงการของเราขยายออกไปในวงกว้าง” คอร์ลอส บริโต ซีอีโอของ AB InBev และประธานของ IARD CEO Group กล่าว “เราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากการร่วมมือกันของสมาคมอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐ องค์กรเอ็นจีโอ และบรรดาผู้ค้าปลีกมากมาย อย่างไรก็ดี ความพยายามของเรายังคงห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก ดังนั้น เราจะพยายามอย่างหนักเพื่อเพิ่มจำนวนพันธมิตรและโครงการต่างๆทั่วโลกต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการใช้แอลกอฮอล์ในทางเป็นอันตราย”
ความสำเร็จของโครงการนี้มีรากฐานมาจากพันธกิจ 5 ประการซึ่งกำหนดโดยเหล่าซีอีโอของบริษัทผลิตเบียร์ ไวน์ และสุราชั้นนำระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอันตรายที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ การลดอัตราการดื่มก่อนวัยอันควร การยกระดับและขยายหลักปฏิบัติทางการตลาด การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคและนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ การลดอัตราการดื่มแล้วขับ และการขอความร่วมมือจากผู้ค้าปลีกเพื่อลดการดื่มแบบอันตราย โดยเหล่าซีอีโอเชื่อว่าการร่วมมือกับหลายๆฝ่าย เช่น หน่วยงานรัฐและองค์กรเพื่อชุมชน ในการลดอันตรายอันเกิดจากการดื่ม จะส่งผลดีต่อทั้งสังคมและธุรกิจไปพร้อมๆกัน
แอน คีลลิ่ง ซีอีโอของ IARD กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในปีที่ 3 ของโครงการระยะเวลา 5 ปี แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างชัดเจนของพันธกิจระดับโลกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ทั้งในแง่ของประเทศที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลและพันธมิตรรายอื่นๆในระดับชาติ”
ผลสัมฤทธิ์ของพันธกิจ 5 ประการในปี 2558
รายงานความก้าวหน้าฉบับล่าสุดนี้เผยแพร่โดยสหพันธ์นานาชาติเพื่อการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ (IARD) ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนพันธกิจนี้ โดยมีการอ้างอิงปัจจัยชี้วัดประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นโดย Accenture Strategy ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดเก็บข้อมูลประจำปี นอกจากนั้นรายงานและข้อมูลประกอบยังผ่านการรับรองจาก KPMG Sustainability ด้วย
การลดอัตราการดื่มก่อนวัยอันควร
การบังคับใช้กฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (LPA) นับเป็นความท้าทายทางสังคมที่จะสามารถบรรลุได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และบรรดาผู้ค้าปลีก โดยในปี 2558 บริษัทที่ลงนามในพันธกิจทั้งหมด 12 บริษัทได้รายงานว่า มีผู้สนับสนุนกฎหมาย LPA กว่า 1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าปลีก นอกจากนี้ ทางโครงการยังตระหนักถึงบทบาทของผู้ปกครองและครูที่มีต่อเยาวชน จึงมุ่งให้ความรู้กับผู้ใหญ่เพื่อเป็นตัวช่วยลดการดื่มก่อนวัยอันควร โดยผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเกือบถึง 30 ล้านคนในปี 2558
การยกระดับและขยายหลักปฏิบัติทางการตลาด
ในปี 2558 วิธีใหม่ในการประเมินการโฆษณาได้ถูกนำมาใช้ เพื่อดูว่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าถึงคนกลุ่มใดบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสารจากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถูกส่งตรงไปยังผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ตามที่ตั้งใจไว้ โดยจากการวิจัยในประเทศเคนยา ยูกันดา และไนจีเรีย พบว่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบริษัทที่ลงนามในพันธกิจนั้น มีมาตรฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในแง่ของการเข้าถึงผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่
ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศที่บริษัทเหล่านี้เผยแพร่โฆษณา ได้เปิดให้หน่วยงานอิสระเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคและนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ
การสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตอลเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบแก่ผู้บริโภคในทุกภูมิภาคทั่วโลก อย่างเช่นเว็บไซต์ www.responsibledrinking.org ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรม และเว็บไซต์ของแต่ละบริษัทเอง ก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความถูกต้องครบถ้วน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ไปจนถึงการลด ละ เลิก
การลดอัตราการดื่มแล้วขับ
ในปี 2558 IARD ได้จับมือกับบริษัทที่ร่วมลงนาม เพื่อเปิดตัวโครงการนำร่อง 4 โครงการในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐโดมินิกัน นามิเบีย และแอฟริกาใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการดื่มแล้วขับ ขณะนี้จึงมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการนำร่องดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 9 ประเทศ
นอกจากนี้ สมาชิก IARD และบรรดาองค์กรอุตสาหกรรมยังได้ร่วมสนับสนุนโครงการต่อต้านการดื่มแล้วขับอีกกว่า 345 โครงการ ครอบคลุม 99 ประเทศใน 7 ภูมิภาค
การขอความร่วมมือจากผู้ค้าปลีกเพื่อลดการดื่มแบบอันตราย
แนวทางการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ณ การประชุม World Retail Congress ที่แอฟริกาใต้นั้น ได้สร้างมาตรฐานในการส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบทั่วโลก ด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่กฏหมายกำหนด การลดอัตราการดื่มที่มากเกินควรในร้านค้าปลีก การส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนผ่านระบบขนส่งทางเลือกที่มีความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมของการค้าปลีกที่มีความปลอดภัย โดยในปี 2558 มีการดำเนินโครงการสนับสนุนการค้าปลีกอย่างมีความรับผิดชอบทั้งสิ้น 251 โครงการใน 75 ประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากปีก่อนหน้า
สำหรับบรรณาธิการ
รับชมข้อมูลเพิ่มเติมและอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.producerscommitments.org/
บริษัท 12 แห่งที่ร่วมลงนามในพันธกิจนี้ประกอบด้วย Anheuser-Busch InBev, Asahi Group Holdings, Bacardi, Beam Suntory, Brown-Forman Corporation, Carlsberg, Diageo, Heineken, Kirin Holdings Company, Molson Coors, Pernod Ricard และ SABMiller
IARD เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขโลกอันเกิดจากการดื่มแบบอันตราย ตลอดจนส่งเสริมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ในฐานะองค์กรเอ็นจีโอด้านสาธารณสุขระดับโลก เราได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเพื่อยกระดับภารกิจของเรา ทั้งยังให้การสนับสนุนองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกในการดำเนินกลยุทธ์ระดับโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตราย ตามกรอบการติดตามโรคไม่ติดต่อทั่วโลก นั่นคือ “ลดการดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตรายอย่างน้อย 10% ภายในปี 2568” รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 3.5 นั่นคือ “การยกระดับการป้องกันการใช้สารในทางที่ผิด รวมถึงการใช้สารเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์แบบเป็นอันตราย”
IARD ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ ไวน์ และสุรา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการใช้แอลกอฮอล์แบบอันตราย โดยบรรดาผู้ผลิตได้ลงนามในพันธกิจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2555 และเห็นพ้องกันในการดำเนินมาตรการต่างๆเป็นเวลา 5 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับและขยายความพยายามในการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแบบที่เป็นอันตราย
ที่มา: International Alliance for Responsible Drinking (IARD)
media@iard.org ; +1-202-556-6970 Washington D.C; +32-471-611-373 Brussels, Belgium