ผุดทีเคพาร์คร้อยเอ็ด ห้องสมุดมีชีวิตเต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคอีสาน
ผุดทีเคพาร์คร้อยเอ็ด ห้องสมุดมีชีวิตเต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคอีสาน
…………………
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค จับมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด เปิด “อุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ด” ห้องสมุดมีชีวิตเต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคอีสาน พร้อมร่วมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้สู่เด็ก เยาวชนและประชาชนในภูมิภาค
…………………
รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด “อุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ด” ห้องสมุดมีชีวิตเต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคอีสาน ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคพาร์ค หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีผู้บริหารจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างคับคั่ง
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าภาคภูมิใจ และมีพัฒนาการในการเติบโต ในอนาคตมั่นใจว่าจังหวัดร้อยเอ็ดจะต้องเป็นศูนย์กลางในภาคอีสานอย่างแน่นอน แต่การพัฒนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือความรู้ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาบุคลกร ต้องขอบคุณชาวจังหวัดร้อยเอ็ดที่รับอุทยานการเรียนรู้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อร่วมกันการพัฒนาการเรียนรู้ในทุกเพศทุกวัยด้วยเครื่องมือและวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัย จนทำให้เกิด “อุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ด” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคอีสานนี้ขึ้นมา
นายมังกร ยนต์ตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่าการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ดเกิดขึ้นเนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดเล็งเห็นความสำคัญของส่งเสริมการอ่าน จึงได้ก่อตั้งโครงการห้องสมุดมีชีวิตเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาขึ้นบริเวณด้านหลังอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง โอท้อปซิตี้ บนถนนเปรมประชาราษฎร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการแสวงหาความรู้ ตลอดจนตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้ชุมชน” กับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือทีเคพาร์ค และทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จนการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ดประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี “ผมเชื่อมั่นว่านับจากนี้ไป อุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ดแห่งนี้จะมีบทบาทในสนับสนุนการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ให้แก่ เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และพื้นที่ใกล้เคียง อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคน ที่จะนำไปสู่การเป็นชุมชนและสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ”
ด้านดร.คณิต แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้กล่าวว่า การจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ดในครั้งนี้ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ในการร่วมมือสร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้ชุมชน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดได้มีพื้นที่ห้องสมุดมีชีวิตเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาเพื่อพัฒนาแนวคิดอุทยานการเรียนรู้ขึ้น
ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้ร่วมวางกรอบการดำเนินงานแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” วางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้คำปรึกษาในทุกกระบวนการ พร้อมทั้งสนับสนุนครุภัณฑ์และอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำงานระบบห้องสมุดอัตโนมัติ รวมทั้งหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่เป็นลิขสิทธิ์ของทีเคพาร์ค และสื่อการเรียนรู้ของทุกช่วงวัย โดยมีเป้าหมายในการร่วมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้สู่เด็ก เยาวชนและประชาชนที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมและเพิ่มพูนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันต่อไป
ภายในอุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ดมีพื้นที่กว้างขวางถึง 1,200 ตารางเมตร โดยพื้นที่บริการชั้นล่างประกอบไปด้วย Reading Park พื้นที่ห้องสมุดที่ให้บริการยืม คืน หนังสือและนิตยสารมากมายหลายพันเล่ม Kid Zone ห้องเด็กที่มีหนังสือและกิจกรรมสำหรับเด็กเล็กสม่ำเสมอ Computer Zone ที่มีคอมพิวเตอร์ให้บริการกว่า 17 เครื่อง Mini Theatre ห้องฉายภาพยนตร์สารคดีที่เหมาะกับการเรียนรู้ที่เพลิดเพลิน และมุมกาแฟที่ให้บริการเครื่องดื่มอร่อยๆ และเมื่อขึ้นไปยังส่วนชั้นสอง ก็จะพบกับมุมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ห้องอบรมและพื้นที่อ่านหนังสือ
ความร่วมมือการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นับเป็นรูปแบบการขยายผลเครือข่ายที่ประสบผลสำเร็จของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ในด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเรียนรู้ด้านต่างๆที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น ให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ล่าสุดสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้ลงนามความร่วมมือกับเครือข่ายส่วนท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว จำนวน 34 แห่งในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยอุทยานการเรียนรู้ร้อยเอ็ดแห่งนี้ นับเป็นเครือข่ายแห่งที่ 18 ของอุทยานการเรียนรู้ที่เปิดให้บริการในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบ และวางเป้าหมายจะเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้เครือข่าย จำนวน 1 แห่ง ที่จังหวัดภูเก็ต ภายในสิ้นปี 2559
ดร.คณิตกล่าวเสริมอีกว่า “บทบาทของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้คือองค์กรที่ผลักดันและประสานความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพียงพอ เล็งเห็นความสำคัญของการอ่านและการเรียนรู้ และร่วมมือผสานองค์ความรู้สากลในการก่อตั้งแหล่งเรียนรู้เข้ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
ผ่านสื่อกิจกรรมสร้างสรรค์และการอบรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นรากฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนและระดับประเทศต่อไปในอนาคต”