ผลสำรวจเผยรัฐบาลหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้งคอร์รัปชั่น คาดมีประชาชน 900 ล้านคนติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยให้เห็นว่า ประชาชนราว 900 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ที่อาศัยอยู่ใน 16 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมถึงประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อาจติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
ผลสำรวจดังกล่าวได้จากการสอบถามประชาชนเกือบ 22,000 คน ถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ภายใต้หัวข้อ “ประชาชนและการคอร์รัปชั่นในเอเชียแปซิฟิก” (People and Corruption: Asia Pacific) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจการคอร์รัปชั่นทั่วโลก (Global Corruption Barometer)
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า บรรดาผู้บัญญัติกฎหมายทั่วเอเชียแปซิฟิกจำเป็นต้องให้การสนับสนุนผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในภาครัฐ ขณะที่รัฐบาลต้องยึดมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมถึงปฏิบัติตนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)
ในประเทศจีน ประชาชนเกือบ 3 ใน 4 ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า การคอร์รัปชั่นมีมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ามาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นไม่ได้ผล
มีประชาชนเพียง 1 ใน 5 ที่คิดว่าการคอร์รัปชั่นปรับตัวลดลง ขณะที่ประชาชนราวครึ่งหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลทำผลงานได้ย่ำแย่ในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
Jose Ugaz ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กล่าวว่า “รัฐบาลต้องทำอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น ถึงเวลาที่ต้องหยุดพูดและลงมือทำ ประชาชนหลายล้านคนจำใจต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และคนจนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด”
38% ของผู้ยากไร้ที่ตอบแบบสำรวจยอมรับว่าเคยติดสินบน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นๆ
“หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม การคอร์รัปชั่นก็จะเฟื่องฟู การติดสินบนไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะขัดขวางการเข้าถึงอาหาร การศึกษา และการรักษาพยาบาล และท้ายที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้” Ugaz กล่าว
ผลสำรวจระบุว่า ตำรวจคือเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกร้องสินบนมากที่สุด โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 1 ใน 3 ที่ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เผยว่าได้ติดสินบนตำรวจ
ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดในการหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นก็คือ การเปิดโปงหรือปฏิเสธที่จะจ่ายสินบน แต่กว่า 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจพอที่จะต่อต้านการคอร์รัปชั่น
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแนะนำว่า
– รัฐบาลต้องผนวกรวมการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกข้อ ทั้งข้อที่เกี่ยวกับความหิวโหย ความยากไร้ การศึกษา สุขภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ และสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนพัฒนากลไกเพื่อลดความเสี่ยงในการคอร์รัปชั่น
– ผู้บัญญัติกฎหมายต้องบังคับใช้กฎหมายที่ครอบคลุม เพื่อปกป้องผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในภาครัฐโดยอิงตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
– หน่วยงานรัฐต้องป้องกันและคว่ำบาตรการจ่าย-รับสินบน เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดหลุดพ้นเพราะติดสินบน
– หน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชั่นต้องมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนประชาชนที่ปฏิเสธการจ่ายสินบนและเปิดโปงการคอร์รัปชั่น
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ: รับชมรายงานฉบับเต็มได้ที่
http://www.transparency.org/whatwedo/publication/people_and_corruption_asia_pacific_global_corruption_barometer
ผลสำรวจดังกล่าวได้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแบบตัวต่อตัวหรือทางโทรศัพท์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 ถึงเดือนมกราคม 2560 โดยเป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรผู้ใหญ่ในประเทศนั้นๆ สามารถรับชมวิธีการสำรวจได้ที่ http://www.transparency.org
ติดต่อ:
เบอร์ลิน (ตั้งแต่เวลา 13.00 น.ตามเวลาไทย)
Julie-Anne Miranda-Brobeck
โทร. +49-30-34-38-20-666
อีเมล: press@transparency.org
สิงคโปร์ (ก่อนเวลา 13.00 น.ตามเวลาไทย)
Rukshana Nanayakkara
โทร. +49-176-277-63-115
ที่มา: องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ