ผลสำรวจครั้งใหญ่เผยจำนวนประชากรช้างสะวันนาแอฟริกาลดลงอย่างน่าใจหาย

0
317
image_pdfimage_printPrint

Vulcan Inc

โฮโนลูลู–1 ก.ย.–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ผลสำรวจดังกล่าวได้รับการเปิดเผยต่อที่ประชุม World Conservation Congress ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) และจะนำไปสู่การตัดสินใจออกมาตรการอนุรักษ์ทั่วโลกเพื่อความอยู่รอดของช้างแอฟริกา

บริษัท วัลแคน อิงค์ (Vulcan Inc.) ของคุณพอล จี. อัลเลน ได้เปิดเผยผลสำรวจ Great Elephant Census (GEC) ซึ่งเป็นการสำรวจประชากรช้างสะวันนาทั่วทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก ต่อที่ประชุม World Conservation Congress ของ IUCN โดยเผยให้เห็นว่า จำนวนช้างสะวันนาแอฟริกาลดลงถึง 30% ใน 15 จาก 18 ประเทศที่มีการสำรวจ [1]

รูปภาพ – http://photos.prnewswire.com/prnh/20160829/402412

คุณพอล อัลเลน นักการกุศลผู้ก่อตั้งบริษัทวัลแคน กล่าวว่า “การสำรวจครั้งใหญ่นี้เป็นการร่วมมือข้ามพรมแดน วัฒนธรรม และอาณาเขต เราทำภารกิจใหญ่สำเร็จแต่สิ่งที่ได้รับรู้กลับทำให้สลดใจ เนื่องจากจำนวนช้างกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว พวกเราต้องร่วมกันรับผิดชอบและทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์หายากชนิดนี้”

ตลอดระยะเวลา 2 ปี การสำรวจ GEC ได้ใช้วิธีการจัดเก็บและพิสูจน์ข้อมูลที่ได้มาตรฐาน ทำให้สามารถระบุจำนวนและการกระจายตัวของช้างสะวันนาแอฟริกาเกือบทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการสำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตด้วย

จากการสำรวจพบว่า

– ช้างสะวันนามีจำนวนลดลง 30% (ราว 144,000 ตัว) ในช่วงปี 2550-2557 [2]
– ปัจจุบัน อัตราการลดลงของจำนวนช้างอยู่ที่ 8% ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์ ส่วนในช่วงปี 2550-2557 นั้น อัตราการลดลงของจำนวนช้างเพิ่มขึ้นทุกปี
– จำนวนช้างใน 18 ประเทศที่มีการสำรวจอยู่ที่ 352,271 ตัว คิดเป็นสัดส่วนราว 93% ของช้างสะวันนาทั้งหมดในประเทศเหล่านี้
– 84% ของช้างในการสำรวจครั้งนี้พบในเขตสงวน ส่วนอีก 16% พบนอกเขตสงวน อย่างไรก็ดี มีการพบซากช้างเป็นจำนวนมากในเขตสงวน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าช้างทั้งในและนอกเขตสงวนล้วนเผชิญกับภัยคุกคาม

ไมค์ เชส หัวหน้าคณะสำรวจ GEC และผู้ก่อตั้งองค์กร Elephants Without Borders กล่าวว่า “ถ้าเรายังอนุรักษ์ช้างแอฟริกาไม่ได้ เราก็คงไม่สามารถอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วทั้งแอฟริกาได้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากมีการใช้เครื่องมือ การวิจัย วิธีการอนุรักษ์ และนโยบายทางการเมืองอย่างถูกต้องเหมาะสม เราจะสามารถอนุรักษ์ช้างไปได้อีกหลายทศวรรษข้างหน้า”

นอกเหนือไปจากการทุ่มเทเวลาและความพยายามแล้ว คุณพอล อัลเลน ยังทุ่มเงินมากกว่า 7 ล้านดอลลาร์ไปกับการดำเนินโครงการ การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการเผยแพร่ผลสำรวจครั้งนี้บนโลกออนไลน์

เจมส์ ดอยช์ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าของวัลแคน กล่าวว่า “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความพยายามอย่างมากนับตั้งแต่การสำรวจเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2556 เราต้องใช้เครื่องบิน 81 ลำ เจ้าหน้าที่ 286 คน และบินด้วยระยะทางรวม 463,000 กิโลเมตรกว่าการสำรวจจะเสร็จสมบูรณ์ เราขอขอบคุณเจ้าหน้าที่จากหน่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าใน 18 ประเทศที่ให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี รวมไปถึงองค์กรเอ็นจีโออย่าง Elephants Without Borders และพันธมิตรเอ็นจีโอรายอื่นๆ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ 90 ท่าน และคณะที่ปรึกษาทางเทคนิค เราคงไม่สามารถทำการสำรวจได้หากปราศจากความช่วยเหลือจากบุคคลและองค์กรเหล่านี้”

2 ใน 3 ของตัวเลขประชากรช้างสะวันนาในทวีปแอฟริกาที่ระบุในรายงาน African Elephant Status Report (AESR) ประจำปี 2559 ของ IUCN นั้น นำข้อมูลมาจากผลการสำรวจ GEC โดยรายงาน AESR จะถูกนำไปเผยแพร่ล่วงหน้าก่อนการประชุม Conference of the Parties to CITES ครั้งที่ 17 (CoP17) ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ และจะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายที่จะมีผลต่ออนาคตของช้าง

คุณอัลเลนรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากกับผลการสำรวจ GEC จึงได้ตัดสินใจยกประเด็นการอนุรักษ์ช้างขึ้นมาเป็นวาระสำคัญสูงสุด พร้อมทั้งประสานงานกับบุคคล องค์กร และรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าคนรุ่นหลังจะยังได้เห็นช้างตัวเป็นๆ มิใช่เห็นแค่ในหนังสือ

วัลแคนได้ดำเนินโครงการใหม่ๆเพื่ออนุรักษ์ช้าง อาทิ การสำรวจจำนวนประชากรช้างป่าในภูมิภาคที่การลักลอบล่าสัตว์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรช้างลดลง รวมถึงภูมิภาคที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนประชากรช้าง นอกจากนั้นยังได้พัฒนาระบบข้อมูลรูปภาพเพื่อให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์แก่เขตสงวน โดยระบบใหม่นี้ถูกนำไปใช้ในโครงการนำร่องในประเทศเคนยา

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงของช้างแอฟริกา บริษัท วัลแคน โปรดักชั่นส์ ของคุณพอล อัลเลน จึงได้เผยแพร่ภาพยนตร์สองเรื่องในปีนี้ ได้แก่ “The Ivory Game” สารคดีเปิดโปงด้านมืดของขบวนการลักลอบค้างาช้าง และ “Naledi: A Baby Elephant’s Tale” เรื่องจริงของลูกช้างที่เกิดในศูนย์พักพิงช้างในประเทศบอตสวานา และกำพร้าแม่เมื่อมีอายุเพียง 1 เดือน

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลสำรวจ GEC ได้ที่

– The African Elephant Atlas เว็บแสดงข้อมูลภาพจากรายงาน Great Elephant Census Report ของวัลแคน
– เอกสาร “Continent-wide survey reveals massive decline in African savanna elephants” ของไมค์ เชส หัวหน้าคณะสำรวจ GEC

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารจากเราได้ทาง Twitter, Facebook, Google Plus และ Paper.li

อ้างอิง
[1] มีการสำรวจใน 18 ประเทศ แต่มีข้อมูลเปรียบเทียบเพียง 15 ประเทศ
[2] สุ่มตัวอย่างโดย GEC ใน 15 จาก 18 ประเทศ และเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตเท่าที่หาได้