ผลวิจัยทางคลินิกล่าสุดได้รับการนำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติซึ่งจัดโดยมูลนิธิ Fondazione Internazionale Menarini
องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอแนะให้ลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดหายนะด้านสาธารณสุข
ผลวิจัยเผยให้เห็นว่า ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ อาจช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ จาก 50-55% เหลือเพียง 10-15% และการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ถึงหนึ่งในสาม หรือปีละกว่า 230,000 คนทั่วโลก โดยราว 11,000 คนอยู่ในยุโรป
ผลวิจัยทางคลินิกล่าสุดได้รับการนำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติของมูลนิธิ Fondazione Internazionale Menarini ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าได้มารวมตัวกันเพื่ออัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับการดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยข้างต้น
การติดเชื้อเพราะแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะคร่าชีวิตผู้ป่วยปีละ 700,000 คนทั่วโลก โดย 33,000 คนจากทั้งหมดอยู่ในยุโรป และตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อย่างไรก็ดี “การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ อย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งบางชนิดวางตลาดแล้ว และบางชนิดเตรียมวางตลาดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึงหนึ่งในสาม จากหลักฐานที่พบในการวิจัยทางคลินิกหลายครั้ง ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อ Klebsiella pneumonia เข้าร่วมการทดลองรวมกว่าหนึ่งพันคน” Matteo Bassetti ประธานสมาคม SITA (Italian Society of Anti-infective Therapy) กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ กลับเข้าไม่ถึงผู้ป่วย ทั้งนี้ WHO เตือนว่า ปัจจุบันการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน ทว่าการลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลงและการขาดแคลนนวัตกรรมในการพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ได้บั่นทอนความพยายามในการรับมือกับการติดเชื้อเพราะแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ
สถาบันต่าง ๆ ทุกระดับ และอุตสาหกรรมยาโดยรวม จำเป็นต้องร่วมมือกันยกระดับความพยายามและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อคิดค้นและพัฒนายารักษาใหม่ ๆ
“ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ จำนวนหนึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปแล้ว ทว่ายังมีปัญหาเรื่องการนำไปใช้ทางเวชปฏิบัติแม้จะได้รับการยอมรับว่าช่วยรักษาชีวิตเช่นเดียวกับยารักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ ๆ ก็ตาม ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ควรนำไปใช้อย่างเหมาะสมและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรักษาผู้ป่วยอาการหนักที่รอไม่ได้ เพราะการรักษาที่ล่าช้ามีผลต่ออัตราการเสียชีวิตและผลการรักษา” Marin Kollef ศาสตราจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว
“ความก้าวหน้าของการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งในด้านศัลยศาสตร์หัตถการ อายุรศาสตร์ พยาธิวิทยาภูมิคุ้มกัน การปลูกถ่าย และการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยจำนวนมหาศาล แต่การขาดแคลนยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ จะทำให้เกิดการติดเชื้อเพราะแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะหลายขนาน ซึ่งจะทำลายปาฏิหาริย์ทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา” Pierluigi Viale รองประธานสมาคม SITA (Italian Society of Anti-infective Therapy) กล่าวสรุป
ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นตรงกันว่า กฎระเบียบข้อบังคับและขั้นตอนการวางตลาดของยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกับของยารักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ ๆ ซึ่งได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1017025/Menarini_Logo.jpg