ผลวิจัยเผยการใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวช่วยลดการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้สูงสุด 47%
ผลวิจัยใหม่ล่าสุดที่ได้รับการเปิดเผยในการประชุม UEG Week ครั้งที่ 25 แสดงให้เห็นว่า การใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวสามารถลดการเกิดมะเร็ง
ในระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ [1]
คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาผู้ป่วยกว่า 600,000 คน โดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์สั่งให้กินยาแอสไพรินในระยะยาว (อย่างน้อย 6 เดือน,
ค่าเฉลี่ย 7.7 ปี) กับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาแอสไพริน เพื่อประเมินการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งผลปรากฏว่า กลุ่มที่ใช้ยาแอสไพรินมีอัตราการเกิด
มะเร็งตับและมะเร็งหลอดอาหารลดลง 47%, การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง 38%, การเกิดมะเร็งตับอ่อนลดลง 34% และการเกิดมะเร็งลำไส้ลดลง 24%
มะเร็งในระบบทางเดินอาหารคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของมะเร็งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุโรป [2] โดยมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และ
มะเร็งตับอ่อน ติดท็อป 5 มะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากที่สุดในยุโรป ขณะที่มะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมดคร่าชีวิตผู้ป่วยคิดเป็นสัดส่วนถึง
30.1%
แอสไพรินถูกนำไปใช้ทั่วโลกเพื่อรักษาอาการต่างๆ ตั้งแต่บรรเทาอาการปวดในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว แม้วงการแพทย์ยังคงถกเถียงกันในเรื่อง
ของการใช้ยาแอสไพริน ทว่าผลวิจัยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยที่หยุดใช้ยาแอสไพรินมีแนวโน้มเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
หรือภาวะหัวใจวาย มากกว่าผู้ป่วยที่กินยาแอสไพรินต่อเนื่องมากถึง 37% [3]
จุดที่เกิดมะเร็ง อัตราการเกิดมะเร็งที่ลดลงในกลุ่มผู้ใช้ยาแอสไพริน
(เทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้)
ตับ 47%
หลอดอาหาร 47%
กระเพาะอาหาร 38%
ตับอ่อน 34%
ลำไส้ 24%
ตาราง 1 – การลดลงของอัตราการเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
นอกจากนี้ ผลของการใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวที่มีต่อการเกิดโรคมะเร็งยังแสดงให้เห็นนอกระบบทางเดินอาหารเช่นกัน โดยพบว่าอัตราการเกิด
มะเร็งบางชนิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก) แต่มะเร็งบางชนิดก็ไม่มีผล (มะเร็งทรวงอก มะเร็งกระเพาะ
ปัสสาวะ มะเร็งไต และมัลติเพิล มัยอิโลมา)
Professor Kelvin Tsoi หัวหน้าคณะนักวิจัยจาก Chinese University of Hong Kong ได้นำเสนอผลการค้นพบดังกล่าวในวันนี้ ระหว่างการประชุม
UEG Week ครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นที่บาร์เซโลนา พร้อมกับระบุว่า “ผลการค้นพบแสดงให้เห็นว่า การใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวสามารถลดความเสี่ยงในการเกิด
มะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบว่าอัตราการเกิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่เด่นชัดที่สุดคือมะเร็งตับและมะเร็งหลอดอาหาร”
อ้างอิง
1. Tsoi, K. et al. Long-term use of aspirin is more effective to reduce the incidences of gastrointestinal cancers than
non-gastrointestinal cancers: A 10-year population based study in Hong Kong. Presented at UEG Week Barcelona 2017.
2. GLOBOCAN, IARC (2012). Section of Cancer Surveillance.
3. Stopping aspirin treatment raises cardiovascular risk by over a third (2017). Available at:
https://www.medicalnewstoday.com/articles/319541.php
ที่มา: United European Gastroenterology (UEG)