ผลวิจัยระดับโลกชี้ฝ่ายไอทีเปลี่ยนบทบาทเป็นกุนซือเทคโนโลยีมากขึ้นชัดเจน คาดงบไอทีใหม่ ภายในสามปีข้างหน้าจะ มีเกือบครึ่งอยู่นอกสายงานไอที

0
239
image_pdfimage_printPrint

ผลการศึกษาใหม่ของบริษัทซีเอ เทคโนโลยี  ชี้ผู้บริหารระดับCIO  ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมองว่า ไอที มี “ความสำคัญทางยุทธศาสตร์” และ “เป็นพื้นฐานสำคัญ” ทางธุรกิจมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

 

โดยมี 89 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า ให้ความสำคัญกับด้านนี้  ในขณะที่ผู้บริหารในยุโรปให้ความสำคัญ 78 เปอร์เซ็นต์ และสหรัฐอเมริกา 51 เปอร์เซ็นต์

 

ในรายงานที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า  “TechInsights Report: The Changing Role of IT and What to Do About It” ยังได้ช่วยยืนยันความเห็นของหลายฝ่ายในวงการที่มองว่า หน้าที่ของฝ่ายไอทีกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการสนับสนุนงานสายทางธุรกิจ ในขณะที่ยอดการใช้จ่ายไอทีมีการเติบโตในส่วนที่ข้ามสายในส่วนธุรกิจด้านอื่นๆ ของบริษัทด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ยอดค่าใช้จ่ายไอทีในตอนนี้มีมากกว่าหนึ่งในสาม หรือ 36 เปอร์เซ็นต์ที่ย้ายไปอยู่กับสายงานธุรกิจอื่น ไม่ได้อยู่กับฝ่ายไอทีโดยตรง ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่า งานด้านไอทีหรือเทคโนโลยีในบริษัท กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุครวมศูนย์งานระบบไอที มาเป็นผู้ที่ช่วยสนับสนุนงานภาคธุรกิจอื่นๆ  ทำให้ต้องมาคิดกันใหม่ว่า ฝ่ายไอทีแต่ละองค์กรจะมีแนวคิดเรื่องจัดซื้อ  ติดตั้งและใช้งานอย่างไร  โดยคาดการณ์กันต่อว่าภายในสามปีข้างหน้า ยอดค่าใช้จ่ายไอทีที่อยู่ตามสายงานธุรกิจต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 45 เปอร์เซ็นต์

 

ผลตรงนี้จะกระทบต่อตัวผู้บริหารไอทีอย่างยิ่ง  เพราะตอนนี้งานจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำกับผู้บริหาร ที่นอกจากจะดูแลงานไอทีแล้วยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญและชี้นำยุทธศาสตร์การลงทุนด้านไอทีขององค์กร

 

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจจากผลของซอฟต์แวร์กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และภาคธุรกิจทุกวันนี้ก็ได้ใช้แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ในการติดต่อกับทั้งพนักงานและลูกค้า และบทบาทของฝ่ายไอทีในบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วขึ้นไปตามประแสทิศทางนี้เช่นกัน

 

เคนเนทธ์ อาร์เรนดอนโด  ประธานและผู้จัดการทั่วไป  ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น บริษัทซีเอ เทคโนโลยีออกความเห็นในเรื่องนี้ว่า  “เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในบริษัทของภูมิภาคนี้ และสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาในแบบพลิกโฉมหน้า และท้าทายแต่ละวงการ”

 

“ลูกค้าต่างต้องการแอพพลิเคชั่นและประสบการณ์การใช้งานที่ดีในแบบทันเวลาทันใจ ส่วนพนักงานก็ต้องการทูลที่จะสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งธุรกิจ ผลก็คือเราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากในด้านรูปแบบการมองตัวเทคโนโลยี การจัดซื้อ การติดตั้งและใช้งานตามบริษัทแห่งต่างๆ ในภูมิภาคนี้  ฝ่ายไอทีจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากผู้ให้บริการ ไปเป็นที่ปรึกษา ตัวแทนและกุนซือ มิเช่นนั้นก็อาจจะถูกลดบทบาทไปในยุคหน้า ”

 

คาดกันว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จะดำเนินต่อไปเพราะ 81 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของฝ่ายไอทีในองค์กรต่อไปอีกอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า  เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามจากสหรัฐฯที่มองว่ามีเพียง  42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

ในกระแสที่มองว่าไอทีมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จทางธุรกิจ รวมทั้งโซลูชั่นด้านไอทีระดับเอนเตอร์ไพร์ซด้านการบริหารจัดการระบบและการรักษาความปลอดภัยมีการใช้ในวงกว้าง ต่อไปรูปแบบของการกระจายจัดสรรงบประมาณด้านไอทีในองค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 

ในปัจจุบัน ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังคงใช้งบไอทีมากกว่าครึ่งไปในการบำรุงรักษา ดูแลระบบไอทีให้ทำงานต่อไปได้ แต่คาดกันว่า ภายในสามปีข้างหน้าตัวเลขตรงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยจะมีการเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้นโดยตัวเลขด้านอื่นจะเพิ่มเป็น 60  เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่งบดูแลรักษาระบบจะลดสัดส่วนลงมาอยู่ที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์

 

ในอีกด้านนึงนั้น ถ้ามองเฉพาะในภูมิภาคนี้ การเปลี่ยนบทบาทของฝ่ายไอทีที่พูดถึงกันก็ยังคงอยู่ในแค่ขั้นเริ่มต้นเท่านั้น และน่าจะมีช่องทางขยับขยายต่อไปได้อีกมาก ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต

 

การสำรวจนี้ ยังมีข้อมูลหลายด้านที่น่าสนใจ  เช่น ประเด็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านโปรดักส์หรือเซอร์วิส (13 เปอร์เซ็นต์)  และเรื่องการผลักดันการริเริ่มทางธุรกิจใหม่ๆ (21 เปอร์เซ็นต์) นั้นยังไม่ใช่เรื่องที่มีลำดับความสำคัญมากที่สุดในความเห็นของฝ่ายไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้   ในทางกลับกัน กลับเป็นเรื่องราวเดิมๆ ในการทำงานของฝ่ายไอทีที่ยังติดอันดับนำอยู่ เช่น การเก็บรักษาข้อมูลสำคัญในองค์กร (45 เปอร์เซ็นต์) ซัพพอร์ตด้านเทคโนโลยีให้กับพนักงานผู้ใช้งาน (38 เปอร์เซ็นต์) และดูแลรักษาระบบไอทีและแอพพลิเคชั่น (36 เปอร์เซ็นต์)

 

หัวข้อสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นได้แก่

  • 74 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ระบุว่า ผู้บริหารไอทีระดับสูงขององค์กรขึ้นตรงกับ CEO  ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของไอทีที่มีต่อสายงานธุรกิจอื่นๆ  ยิ่งถ้าเป็นในประเทศจีนตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจัดว่าสูงที่สุดในโลก
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสายงานไอทีและสายงานธุรกิจอื่น  กำลังเปลี่ยนไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมี  44 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ไอทีมีบทบาทเป็น โบรกเกอร์ด้านงานเซอร์วิส หรือที่ปรึกษาให้กับสายงานธุรกิจอื่นๆ  แทนที่จะเป็นผู้ให้บริการในแบบเดิมแต่เพียงอย่างเดิม และยอดการใช้จ่ายไอทีที่อยู่ในสายธุรกิจอื่น จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ผู้นำด้านไอที จำเป็นต้องปรับให้ลงตัวกับธุรกิจให้ความรู้กับฝ่ายบริหารเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่สำคัญๆ ต่อไป
  • ผู้ตอบคำถามในภูมิภาคนี้มองว่า คอมพิวเตอร์ระบบคลาวด์ (53 เปอร์เซ็นต์) ระบบโมไบล์(36 เปอร์เซ็นต์)  รวมทั้งงานข้อมูลและวิเคราะห์ (33 เปอร์เซ็นต์)  คือสามเทรนด์ที่กำลังส่งผลต่อฝ่ายไอทีในปัจจุบัน
  • มี52 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ฝ่ายไอทีจะต้องมีการจัดฝึกอบรมในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้เพิ่มเติม และมี 44 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ไอทีจะต้องปรับให้รู้ทันธุรกิจเพื่อรับรู้ลำดับความสำคัญในการทำงาน

 

รูปแบบการสำรวจและวิธีวิจัย

บริษัทวิจัย Vanson Bourne  ได้ดำเนินการสำรวจ ที่บริษัทซีเอ เทคโนโลยีเป็นผู้สนับสนุน ในการสอบถามผู้บริหารไอทีระดับสูงกว่า  1,300  รายใน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (ออสเตรเลีย จีน อินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) และในอีก 15 ประเทศทั่วโลกในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม ปี 2013   โดยผู้ตอบแบบสอบถามในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้มีบทบาทในตำแหน่งผู้บริหารไอที ฝ่ายจัดการ  หัวหน้าโปรเจ็กต์  หรือผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมระบบในบริษัทเอนเตอร์ไพร์ซที่มีรายได้ตั้งแต่100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า

 

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย หรือดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัยนี้ โปรดไปที่ http://www.ca.com/insights/changing-role-of-it.aspx