ผนึกกำลัง ASEAN-OSHNET ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย

0
329
image_pdfimage_printPrint

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นเจ้าภาพจัดประชุม 9 ประเทศสมาชิก ASEAN-OSHNET ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน รองรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า การประชุมในวันนี้ (27 ก.ย. 60) ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN Occupational Safety and Health Network; ASEAN-OSHNET)จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนจาก ILO, KOSHA และกระทรวงกำลังแรงงานสิงคโปร์ โดยเกิดขึ้นจากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN-OSHNET Coordinating Board Meeting; CBM) ครั้งที่ 16 ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นตามวาระในฐานะผู้รับผิดชอบประสานงานด้านข้อมูลสารสนเทศ โดยเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการของเครือข่ายฯ ปี 2559 – 2563 เพื่อยกระดับการดำเนินงาน ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้เครือข่าย ASEAN-OSHNET ได้มีแนวคิดริเริ่มในการพัฒนาระบบข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินงานเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิกอาเซียนระบบข้อมูลตัวชี้วัดดังกล่าวได้มีการพัฒนาขึ้นโดยอ้างอิงตามองค์ประกอบหลักภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนกึ่งหนึ่งได้ให้สัตยาบันเรียบร้อยแล้ว

รองอธิบดีกล่าวต่อไปว่า ระบบฐานข้อมูลตัวชี้วัดที่ได้พัฒนาขึ้นมาประกอบด้วยหัวข้อคือ นโยบายและ กลยุทธ์ด้านความปลอดภัยฯ ของแต่ละประเทศ แผนงาน/โครงการของแต่ละประเทศ ระบบด้านความปลอดภัยฯ ของแต่ละประเทศ สถิติอุบัติเหตุจากการทำงานของแต่ละประเทศ โรคเนื่องจากการทำงานของแต่ละประเทศ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยฯ ของแต่ละประเทศ จากการประชุมครั้งนี้จะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนจะมีระบบฐานข้อมูลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ที่น่าเชื่อถือ มีการจัดเก็บและรายงานข้อมูลฯ อย่างถูกต้อง มีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการดำเนินงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและลดช่องว่างของการดำเนินงานระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อนำไปสู่การยกระดับงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียนในภาพรวม ตลอดจนช่วยเสริมสร้างรากฐานของการพัฒนาวัฒนธรรมป้องกันด้านความปลอดภัยฯ ต่อไป