ปัญหาปะการังฟอกขาวระบาดน่านน้ำไทย

0
474
image_pdfimage_printPrint

Marc

2 มิถุนายน 2559 / “ปะการัง” เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากใต้ทะเล ตามซอกตามรูของหินปูนแต่ละก้อน ภายในเนื้อเยื่อของปะการังก็จะมีสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้จะเป็นวัตถุที่ช่วยสร้างสีสันให้กับปะการังนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการังอีกด้วย
แต่จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลสำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ระบุข้อมูลที่น่าตกใจว่า งานวิจัยเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 พบว่าสภาวะของปะการังฟอกขาวในปี พ.ศ. 2559 นี้ เป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับท้องทะเลไทย
เมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกของบ้านหรือปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่ปะการังอาศัยอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต เช่น การที่อุณหภูมิของน้ำหรือระดับ ความเค็มของน้ำสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าสภาวะปกติ ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีไม่สามารถอาศัยอยู่ในปะการังได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการัง เข้าสู่มวลน้ำเพื่อหาบ้านใหม่ ที่ให้ตนเองสามารถเข้าไปอาศัยและดำรงชีวิตต่อไปได้ ปะการังที่ปราศจากสาหร่ายเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสได้รับพลังงานเสริมที่เพียงพอในการดำรงชีวิต หากสถานการณ์ดำรงเช่นนี้ต่อไป ปะการังจะตาย ไปในที่สุด เมื่อสาหร่ายซูแซนเทลลีซึ่งเป็นสีสันของปะการังออกจากตัวปะการังไปแล้ว ปะการังก็จะกลับคืนมาเป็นสีขาว ซึ่งคือสีของปะการังเอง ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกจากปะการัง จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching)
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (LEEO-WEN) กล่าว “การท่องเที่ยวจะได้ผลกระทบ เมื่อไม่มีปะการังแล้วนักท่องเที่ยวจะไปดำน้ำดูอะไร ปะการังฟอกขาวจะตายพอมันขาวหมดแล้วประมาณสัก 3-6 เดือน ปะการังที่เห็นเป็นโครงขาวๆ ก็จะป่นพินาศหายไปหมด เสร็จแล้วจะมีสาหร่ายมาขึ้นแทน ก็กลายเป็นแนวหินโสโครก ซึ่งไม่มีใครดำน้ำดูแนวหินโสโครก ตอนแรกที่นักท่องเที่ยวเห็นปะการังฟอกขาวก็จะตื่นเต้นกับปะการังสีเขียว สีทองเรืองแสง แต่ 3 เดือนจากนี้โครงปะการังจะหักหมด แล้วสาหร่ายจะขึ้นคลุม อาจจะเป็นอีก 10 ปีข้างหน้า แนวปะการังแถบนั้นจะไม่กลับมาเลย สิ้นสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเลย 10-20 ปี สิ่งที่อยากจะเตือนนักท่องเที่ยว ก็คือเรื่องการเหยียบปะการัง การให้อาหารปลา การทิ้งอาหารเหลือลงทะเลเป็นสิ่งที่สร้างแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น พอแบคทีเรียมาก ธาตุอาหารมาก มันก็มีพวกแพลนตอนพืช สาหร่าย ยึดครองพื้นที่ทำให้กระทบต่อปะการังเหล่านี้”
___________________________________________

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
LEEO-WEN
โทร 08-6781-9555