ปัญญาสมาพันธ์เผยผลสำรวจ TE Index ไตรมาส 3/2560 วัดประสิทธิผล 3 ภาคประชาสังคมผ่านฉลุย คนไทยยังเชื่อมั่น
ปัญญาสมาพันธ์เผยผลสำรวจ TE Index ไตรมาส 3/2560 วัดประสิทธิผล 3 ภาคประชาสังคมผ่านฉลุย คนไทยยังเชื่อมั่น
สภาปัญญาสมาพันธ์ เปิดเผย 3 ผลสำรวจ “ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย” หรือ Thailand Effectiveness Index (TE Index) ใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 พบประชาชนเทคะแนนภาพรวมด้านประสิทธิผลให้ภาคเอกชนมากที่สุด ร้อยละ 71.79 สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ของประชาชนว่าภาคเอกชนสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ตอบสนองและเข้าถึงผู้บริโภค ตลอดจนสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจให้เกิดขึ้น รองลงมาคือให้คะแนนองค์กรภาคประชาชนร้อยละ 70.34 และหน่วยงานราชการได้คะแนนร้อยละ 63.17
ดร.อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ หัวหน้าคณะทำงานสภาปัญญาสมาพันธ์ กล่าวว่า เนื่องจากการวิจัยในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยใช้การสำรวจวิจัยเชิงปริมาณผ่านกลุ่มตัวอย่างที่กระจายตาม 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ใช้วิธีสอบถามความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างชายหญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
โดยผลการศึกษา “ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย” ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ได้แบ่งการสำรวจออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ “ด้านการดำเนินงาน” และ “ด้านประสิทธิผล” ในส่วนของภาคเอกชน พบว่า ภาคเอกชนได้รับคะแนนจากประชาชนมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น โดยเทคะแนนภาพรวมการดำเนินงานของภาคเอกชนที่ 71.05% โดยมีความเป็นมืออาชีพสูงสุด (72.65%) มีประสิทธิภาพ (71.73%) มีความโปร่งใส (70.94%) และด้านประสิทธิผลได้คะแนนภาพรวม 72.62% โดยมิติการตอบสนองต่อผู้บริโภค (74.98%) ความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (72.01%) และการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ (71.98%) สะท้อนให้เห็นถึงว่าภาคเอกชนสามารถดำเนินการต่างๆ ได้ตามวัตถุประสงค์ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศโดยรวมและเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน
คะแนนการตอบสนองต่อผู้บริโภคเป็นอันดับที่ 1 (74.98%) หมายถึงสามารถตอบสนองได้ตรงความต้องการของความคาดหวังของผู้บริโภคทั้งในด้านราคา คุณภาพ ความปลอดภัยและทันความต้องการ ความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (72.01%) โดยจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และพร้อมบริการคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่มีความแตกต่างกัน ไม่เจาะจงให้ความสนใจหรือสิทธิพิเศษกับกลุ่มใดเป็นพิเศษ และการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ (71.98%) คือริเริ่มสร้างสรรค์ธุรกิจที่ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ตามมา ตลอดจนการที่ธุรกิจสามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับธุรกิจที่มีอยู่แล้วในตลาดให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน สร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและสามารถปรับใช้เทคโนโลยีความรู้จากต่างประเทศให้เหมาะสม
ขณะที่ภาคประชาชน ได้คะแนนภาพรวมด้านประสิทธิผล 70.34 % ประชาชนให้องค์กรภาคประชาชนทำงานสอบผ่านที่คะแนน 71.98% โดยพบว่า องค์กรภาคประชาชนที่ดีที่สุดในใจประชาชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้คะแนนร้อยละ 20.64 รองลงมาคือ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ได้คะแนนร้อยละ 16.72 และมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้คะแนนร้อยละ 16.06 ส่วนด้านการดำเนินงาน พบว่า องค์กรภาคประชาชนสามารถสร้างพันธมิตรและบูรณาการได้มากที่สุด (71.09%) มีความเป็นมืออาชีพ (70.96%) และมีประสิทธิภาพ (70.78%) ส่วนด้านประสิทธิผล ได้แก่ ความสามารถในการตอบสนองความต้องการ (70.61%) ความสามารถในการเข้าถึง (70.47%) และการเสริมสร้างความสามารถของสังคม (70.24%)
ส่วนองค์กรภาครัฐ คะแนนภาพรวมด้านประสิทธิผล 63.17% ประชาชนให้หน่วยงานราชการทำงานสอบผ่านที่คะแนน 70.03% โดยพบว่าหน่วยงานภาครัฐที่ดีที่สุด ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ ได้คะแนนร้อยละ 16.8 รองลงมา คือ โรงพยาบาลของรัฐ ได้คะแนน 15.6 และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้คะแนนร้อยละ 13.7 ส่วนด้านการดำเนินงานของภาครัฐ สามารถสร้างพันธมิตรและบูรณาการ (64.14%) มีประสิทธิภาพ (63.59%) และมีความเป็นมืออาชีพ (63.31%) ส่วนในด้านประสิทธิผลมีความสามารถในการเข้าถึง (65.19%) การตอบสนองประชาชน (65.11%) รวมถึงกำกับดูแล (63.46%)
ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (Thailand’s Effectiveness Index) เป็นการสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) โดย “สภาปัญญาสมาพันธ์” (WISDOM COUNCIL) ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและครบถ้วน
โดยผลสำรวจจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ ตลอดจนความคาดหวังของประชาชน ที่มีต่อ 3 ภาคส่วนที่ล้วนมีความสำคัญต่อประเทศ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการดำเนินการทำแบบสำรวจตามไตรมาสอย่างเป็นประจำต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงช่วยให้มองเห็นมุมมองความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาต่อทั้งสามภาคส่วนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงสามารถนำข้อมูลที่ได้รับนำไปปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและต่อประเทศชาติได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สภาปัญญาสมาพันธ์ (WISDOM COUNCIL) โทรศัพท์ 084-522-4424 อีเมล์: wisdomcouncilthailand@gmail.com หรือเข้าไปที่ http://www.wisdomcouncilthailand.com