1

ปวดกล้ามเนื้อ โรคของหนุ่มสาวออฟฟิตที่มักเกิดขึ้น เพราะทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน

แพทย์หญิง โฉมขจี  สุขอารีย์ชัย  สาขาวิชาเวชกรรมฟื้นฟู  ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ให้ข้อมูลสาระความรู้ว่า  MFS (Myofascia Pain Syndrome) คือโรคที่มีอาการของกล้ามเนื้อเป็นอาการหลัก และต้องมีจุดกดเจ็บที่เรียกว่า Myofascial pain trigger point ซึ่งจะคลำได้เป็นก้อนๆ ตึงภายในกล้ามเนื้อหรือเยื่อพังผืด  ซึ่งมักจะเกิดกับคนวัยทำงานที่ใช้ท่าทางทั้งการนั่ง ยืน ก้ม ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานติดต่อกัน

IMG_9390

อาการแสดงของ MFS ที่สำคัญคือต้องมีอาการปวด โดยจะมีอาการปวดร้าวที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาการปวดร้าวนี้จะมีลักษณะเฉพาะของกล้ามเนื้อในแต่ละมัด เช่น ผู้ป่วยบางคนมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ แขน และมือ โดยมีต้นเหตุคือ จุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อสะบัก นอกจากอาการปวดร้าวแล้วบางรายมักจะบอกว่ามีอาการปวดตื้อๆ ลึกๆ คล้ายสะบักจม หรืออาจมีอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น มือซีด เย็น รู้สึกเหมือนมดไต่ตลอดเวลา

สาเหตุของการเกิดการปวดกล้ามเนื้อ MFS มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานแบกหามหนักๆ แต่รวมถึงงานเบาๆ แต่ทำนานๆ ท่าเดิมๆ เช่น เล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นความเครียดทางจิตใจ การบาดเจ็บเรื้อรัง เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุให้เกิดจุดกดเจ็บ trigger point ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือสามารถกระตุ้นให้เกิดการปวดร้าวที่มีแบบแผนเฉพาะตัว หากโดนกดหรือใช้ปลายเข็มแทงที่จุดกดเจ็บ และเกิดกล้ามเนื้อกระตุกขึ้น (local twist response)

หัวใจสำคัญของการรักษา MFS ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. การรักษาที่จุดกดเจ็บ ร่วมกับการแก้ไขปัจจัยเสริมที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิด trigger point การรักษาที่จุดกดเจ็บ เช่น การใช้เครื่องมือ ทางกายภาพ อาทิ การใช้แผ่นร้อน คลื่นเสียงความถี่สูง คลื่นไฟฟ้าความถี่สูง การนวด การฉีดยา ทานยาลดปวด ยานวด และการฝังเข็ม ซึ่งได้ผลดีในการรักษา ร่วมกับผู้ป่วย ต้องหมั่นดูแลรักษากล้ามเนื้อโดยระวังท่าทางในชีวิตประจำวัน และหมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณบ่าเป็นจุดเกิด MFS ได้บ่อย