ปลูกจิตสำนึกความเป็นผู้นำให้เยาวชนรุ่น Gen Z เรียนรู้ มอบโอกาส พัฒนาศักยภาพให้ตนเอง

0
401
image_pdfimage_printPrint

จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นในเรื่องของคนเราจะต้องรับและจะต้องให้ ในตอนหนึ่งว่า “คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
สำหรับกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 “โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา” ได้ลงพื้นที่กระจายกันไปสอนหนังสือพร้อมพัฒนาในเขตพื้นที่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้กิจกรรม “ค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนปีที่ 19” ในพื้นที่โรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่ 1. โรงเรียนวัดห้วยแก้ว 2. โรงเรียนบ้านใหม่สวรรค์ 3. โรงเรียนบ้านเหล่าป่าฝาง และ4.โรงเรียนวัดทุ่งศาลา แยกตามสีได้แก่ ได้แก่ สีฟ้า สีม่วง สีเขียว และสีเหลือง ซึ่งได้ดำเนินการจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านจนถึง ณ ปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว กิจกรรมนี้มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะและต่อยอดความคิดด้านการให้โอกาส การเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ภายใต้ความหวังให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดี เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณภาพทั้งรากที่มั่นคง และลำต้นที่แข็งแรง โดยรูปแบบของกิจกรรมจะเป็นลักษณะของการออกค่ายอาสาฯ เพื่อทำความดี ส่งเสริมการรู้จักให้ และบำเพ็ญประโยชน์ โดยแต่ละกลุ่มจะแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.ฝ่ายพัฒนา 2.ฝ่ายวิชาการ และ3.ฝ่ายนันทนาการ ซึ่งฝ่ายพัฒนาจะมีหน้าที่ปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น อาทิ ตัดหญ้าในสนาม, ทำพื้นสนามให้สะอาด, ซ่อมแซมห้องสมุด ปรับเปลี่ยนห้องพยาบาลให้ถูกหลักอนามัย ส่วนฝ่ายวิชาการจะต้องวางแผนการเรียนการสอนให้น้องๆ จากเดิมที่เคยวางแพลนเอาไว้ว่า 4 วิชา ประกอบด้วย 1. ภาษาอังกฤษ 2. วิทยาศาสตร์ 3. คณิตศาสตร์ และ 4. สังคม ซึ่งเมื่อสอนจริงๆ พบว่าน้องๆ เหล่านี้ มีความตั้งใจมากกว่าที่คิดเอาไว้ ทุกคนตั้งใจและสนใจการเรียน บางคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้มากกว่าที่คิด แต่เพียงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษามากกว่าเด็กในเมืองเท่านั้น สำหรับฝ่ายนันทนาการได้ดำเนินการตามหลักสูตรของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ที่มีการ Marching, Line dance เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายตอนเช้าแบบชาวสารสาสน์เอกตรา และกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่และน้อง โดยเริ่มจากการละลายพฤติกรรม และจัดกิจกรรมเพื่อให้น้องๆ ได้รับความสนุกและได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์บุษรารัตน์ เกิดเพิ่มพูล รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กล่าวว่า “กิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนรุ่นที่ 19 ในปีนี้จัดขึ้นเพื่อต้องการปลูกฝังทักษะและคุณธรรมที่มีค่ายิ่งในการดำเนินชีวิตและต้องการให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิต ได้เรียนรู้ถึงคำว่าแบ่งปันน้ำใจให้กับผู้อื่น ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน นอกจากการได้ลงไปสัมผัสจริงๆ นอกจากนี้การมุ่งพัฒนานักเรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมีคุณงามความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ จึงจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เพื่อการเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีความกตัญญูกตเวที มีความเมตตากรุณา ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติและสังคมเกิดความสงบสุข เมื่อนักเรียนได้ฝึกฝนตนเองจนเกิดคุณธรรมดังกล่าวแล้ว คุณธรรมเหล่านั้น ก็จะเป็นสิ่งที่คอยควบคุมกำกับติดตัวไปกับตนเอง และน้อมนำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมต่อไป
“กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก อย่าคิดว่าทุกที่จะสุขสบายเหมือนเรา” นี่เป็นเพียงคำพูดบางส่วนที่อาจารย์บุษรารัตน์ เกิดเพิ่มพูล รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา ได้สอนให้กับเด็กๆ โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม “ค่ายอาสาพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและช่วยเหลือชุมชนปีที่ 19”
ตลอดระยะเวลา 7 วันในการออกค่ายอาสาฯ นอกจากจะได้ฝึกฝนตัวเองในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่ได้รับมีมากว่านั้นคือ ความสุขจากการให้ การมอบโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้กับน้องๆ การดูแลโรงเรียน ทำอาหาร ทำความสะอาด ซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรม จากเด็กนักเรียนคนเมืองที่มีความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีแม่บ้าน พี่เลี้ยง คอยทำสิ่งต่างๆ ให้ จะต้องปรับชีวิตตัวเองให้ได้เรียนรู้ความไม่พร้อม และทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
อีกทั้งยังต้องลงพื้นที่การสอนหนังสือให้กับน้องๆ ที่โรงเรียนอยู่ห่างไกล แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาที่แสนสั้นที่ได้ลงไปคลุกคลีกับน้องๆ แต่ก็สามารถทำให้เด็กที่ไปร่วมค่ายอาสาฯ ได้รับทักษะชีวิต และยังได้เป็นผู้มอบโอกาสที่ดีให้กับโรงเรียน ซึ่งในส่วนนี้ก็คือผลลัพธ์ที่ทำให้ติดตัวเด็กตลอดไป เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้รู้จักกับคำว่าว่าโอกาส มีน้ำใจ และใจพัฒนา
น.ส. อรจิรา หวังวีระมิตร หรือน้องแนน ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า “ก่อนไปค่าย รู้สึกเป็นกังวลมาก เนื่องจากเราแบ่งกันเป็นสี ก็จะมีเพื่อนต่างห้องที่เราไม่ค่อยได้คุย ไม่ค่อยสนิท มาทำงานร่วมกัน ซึ่งเราก็แอบกังวลไม่น้อย ว่าเราจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เราจะมีความสามัคคีกันมากพอไหม แต่เมื่อไปค่ายอาสาฯ ก็รู้สึกดีมาก เพราะทุกคนช่วยกันทำงาน ให้ความร่วมมือเต็มที่ และประทับใจกับความมีน้ำใจของคุณครูที่อยู่ที่โรงเรียนที่เราลงพื้นที่ ที่ใส่ใจในทุกเรื่องและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่”
สิ่งที่ได้รับจากการไปค่ายนี้ พบว่าตัวเราเอง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เพราะการทำงานกับคนหมู่มากย่อมมีหลายความคิด ไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจเราทุกอย่าง นอกจากนี้ยังมีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถแบ่งความรับผิดชอบตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละคน ได้อีกด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ประทับใจที่สุดคงเป็นประสบการณ์ที่เราหาไม่ได้ในห้องเรียน ได้พบเห็นคนที่มีโอกาสน้อยกว่าเรา เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่าพวกเขาเหล่านั้น เราควรที่จะใช้โอกาสที่ได้ ที่เรามีให้ดีที่สุด
น.ส.พิชญ์สินี เลี่ยวเฉลิมวงษ์ หรือ น้องเนเน่ ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า “หลังจากได้ทำกิจกรรม ก็ทำให้เข้าใจกับคำว่า “โอกาส” มากขึ้น จากเดิมที่อยากเรียนคณะรัฐศาสตร์ เพราะแค่รู้สึกว่าอยากเรียน ไม่ได้มีเป้าหมายอะไร แต่พอได้ไปสัมผัสกับน้อง ๆ ที่ค่ายแล้ว ทำให้เกิดการรับรู้ว่าคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล มีโอกาสน้อยมากในเรื่องของการศึกษา สิ่งหนึ่งคือปัญหาความยากจน ทั้ง ๆ ที่เด็กทุกคนมีความฝัน แต่ก็ไม่สามารถทำตามฝันของตัวเองได้ ซึ่งเราคิดต่อไปว่าหากได้มีโอกาสในการศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ เราจะนำมาพัฒนาน้อง ๆ เพราะคิดเสมอว่า แม้รายได้หรือโอกาสจะมีไม่เท่ากัน แต่การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนควรได้รับ นอกจากนี้การออกค่ายยังทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่ได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายอีกทั้งยังได้รับมิตรภาพที่ดีจากน้อง ๆ และคุณครูที่ประจำอยู่ในโรงเรียน ได้เห็นรอยยิ้ม ได้เข้าใจกับสิ่งที่เราตั้งใจมอบให้เพียงแค่นี้ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากที่สุด สำหรับได้มาออกค่ายพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ค่ะ”
นายปริญญา สิทธิวงษ์ หรือน้องปลื้ม ตัวแทนนักเรียนชั้นม.5 เผยอีกหนึ่งมุมมองในการเข้าค่ายครั้งนี้ว่า “การมาค่ายทำให้เรารู้จักคำว่า”รับผิดชอบ” มากขึ้น และสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างลงตัว รู้จักวิธีบริหารจัดการทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดได้ในการเรียนมหาวิทยาลัยหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้การได้เข้าค่ายอาสาฯ เรารู้สึกเหนื่อยมาก แต่ไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่มีความสุข เพราะน้อง ๆ มอบสิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพที่ดีให้กับเราเสมอ ซึ่งเราเชื่อว่า การพบเจอมิตรภาพที่ดีและจริงใจ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็สุขใจและอีกมุมมองหนึ่งที่เราได้รับคือ ถึงแม้ว่าเราจะไปสอนน้องๆ ในเรื่องของการเรียน แต่เรื่องที่สอนเรา และเราได้เรียนรู้จากน้อง นั่นคือการใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับมาอย่างเต็มที่ น้อง ๆ ไม่ได้มีโอกาสเหมือนเรา น้อง ๆ ไม่ได้มีเศรษฐานะเท่าเรา น้อง ๆ บางคนไม่มีแม้กระทั่งพ่อแม่ แต่น้อง ๆ ก็สู้ชีวิตเพื่ออนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอนให้เราได้ตระหนักในการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเรื่องการใช้จ่าย หรือเรื่องการเรียน ถ้าเราได้รับเต็มที่ ก็ควรทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดครับ”