ประเทศไทยพัฒนาความปลอดภัยของระบบรางในสถานีรถไฟ 48 แห่ง ด้วยเทคโนโลยีของทาเลส (Thales)

0
416
image_pdfimage_printPrint

©Thales

• ทาเลส (Thales) ได้จับมือกับบริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง (River Engineering) เพื่อดำเนินการออกแบบ ส่งมอบ และติดตั้งระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) ระบบป้องกันความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟระดับ 1 บนเส้นทางรถไฟสี่ช่วงสำหรับสถานีรถไฟ 48 แห่งรอบๆ กรุงเทพฯ
• ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการสำคัญรายหนึ่งในอุตสาหกรรมการคมนาคมของประเทศไทย ทาเลสนำเสนอเทคโนโลยี ETCS เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560 สำหรับทางรถไฟสายตะวันออกของประเทศไทย ตามมาด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดงของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ให้บริการระบบบัตรโดยสารสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังเดินหน้าในการปรับปรุงเครือข่ายรถไฟของประเทศให้ทันสมัย โดยมีแผนการลงทุนเพื่อพัฒนารถไฟในรัศมี 500 กิโลเมตรรอบๆ กรุงเทพมหานครให้เป็นระบบไฟฟ้า เฟสแรกของการปรับปรุงให้ทันสมัยนี้คือการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) ระดับ 1 ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานของยุโรปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้ให้กับเครือข่ายรถไฟไทย

จากการเซ็นสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทาเลสและริเวอร์ เอนจิเนียริ่งซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรในกลุ่มบริษัทของทาเลสได้รับสัญญาบริการสนับสนุนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมรถไฟของประเทศไทยด้วยการออกแบบ จัดหา และติดตั้ง ETCS ระดับ 1 ในเครือข่ายรถไฟสี่ช่วงของ รฟท. (สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้) ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการสองปี และจะช่วยสนับสนุน รฟท. ในการปรับปรุงเครือข่ายรถไฟให้ทันสมัยด้วยการใช้ ETCS ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานในการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยอัตโนมัติของรถไฟ (ATP)

โครงการระบบอาณัติสัญญาณจะครอบคลุมสถานีรถไฟ 48 แห่งจากลพบุรีทางทิศเหนือลงใต้ไปถึงนครปฐม และถึงมาบกะเบาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การติดตั้งระบบ ETCS ระดับ 1 ช่วงระยะทางยาวที่สุดจะเป็นการติดตั้งที่ครอบคลุมสถานีรถไฟ 21 แห่งจากสถานีหัวหมากจนถึงสถานีแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังชายแดนไทยฝั่งตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทาเลสได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีของทาเลสในอุตสาหกรรมการคมนาคม เช่นระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติและบริการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร และนี่เป็นเพียงเฟสแรกที่เพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ทาเลสได้นำเทคโนโลยี ETCS เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2560 เพื่อใช้กับโครงการรถไฟรางคู่ (104 กิโลเมตรจากฉะเชิงเทราถึงคลองสิบเก้าและแก่งคอย) ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ชื่อเสียงของเทคโนโลยี ETCS ของทาเลสได้รับการยืนยันอีกครั้งด้วยการได้รับสัญญาให้ดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวกับรถไฟสายสีแดงของกรุงเทพมหานครในระยะทาง 41 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะให้บริการกับผู้โดยสารมากกว่า 130,000 คนต่อวัน การทำสัญญาฉบับล่าสุดกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นการยืนยันถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในด้านระบบอาณัติสัญญาณในประเทศไทย

ระบบ ETCS ระดับ 1 จะช่วยยกระดับความปลอดภัยให้การขนส่งระบบรางในประเทศไทยสู่มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด เดิมทีเทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งเสริมระบบการใช้งานร่วมกันกับเครือข่ายรถไฟของยุโรป ต่อมาระบบนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการรถไฟต่างๆ ทั่วโลก ETCS จะคำนวณความเร็วสูงสุดที่ปลอดภัยสำหรับรถไฟแต่ละคันอย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบอาณัติสัญญาณเตือนในห้องพนักงานขับรถไฟและระบบออนบอร์ดที่จะทำการบังคับรถไฟหากความเร็วเกินกว่าอัตราที่ปลอดภัย การปรับใช้เทคโนโลยี ETCS ระดับ 1 นั้นสามารถนำไปปรับใช้กับระบบอาณัติสัญญาณที่มีอยู่เดิมในประเทศได้อย่างง่ายดายและจะรบกวนการดำเนินการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และกล่าวกันว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายที่มีอยู่ได้ถึง 40%

นายมาสสิโม มารินซี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของทาเลส กล่าวว่า
ในส่วนของระบบอาณัตสัญญาณเส้นทางหลัก ระบบเทคโนโลยีของทาเลสใช้ใน 38 ประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 17,000 กิโลเมตร อีกทั้งยังสนับสนุนวิสัยทัศน์คมนาคมรวมเป็นหนึ่งของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันซึ่งก็คือการเชื่อมต่อเครือข่ายในประเทศและช่วยให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยี ETCS ในประเทศไทย โครงการนี้ช่วยให้เรามีส่วนร่วมมากขึ้นในอุตสาหกรรมคมนาคม และทำให้เราเป็นพันธมิตรแนวหน้าของการรถไฟแห่งประเทศไทยในด้านระบบเครือข่ายรถไฟสายหลักและระบบอาณัติสัญญาณ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมงานกับริเวอร์ เอนจิเนียริ่งพันธมิตรของเราในการปรับปรุงเครือข่ายรถไฟไทยให้ทันสมัยเพื่ออนาคต”

เกี่ยวกับทาเลส
ทาเลส (ตลาดหลักทรัพย์ยูโรเน็กซ์-ปารีส: HO) คือผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่สร้างโลกแห่งอนาคตในวันนี้ กลุ่มบริษัทของเราให้บริการโซลูชัน บริการ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านอากาศยานและอวกาศ การขนส่ง ตัวตนดิจิทัลและการรักษาความปลอดภัย และความมั่นคง
ด้วยพนักงาน 80,000 คนใน 68 ประเทศ ทาเลสมียอดขายถึง 19 พันล้านยูโรในปี 2018 (ตามการประเมินรวมกับเจมัลโต (Gamalto)

ทาเลสเน้นการลงทุนในด้านนวัตกรรมดิจิทัล การเชื่อมต่อ ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนบริษัท องค์กร และรัฐบาลในการตัดสินใจในสถานการณ์สำคัญ
เกี่ยวกับทาเลสในประเทศไทย
ทาเลสได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ทาเลสในประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งจากฝ่ายพลเรือน และฝ่ายความมั่นคง ทาเลสได้ร่วมงานกับพันธมิตรสำคัญในประเทศไทยในด้านการบินและอวกาศ ความมั่นคง การขนส่ง การจัดการจราจรทางอากาศ ตัวตนดิจิทัลและการรักษาความปลอดภัย และอวกาศ ทังนี้ บริษัทมีพนักงานในกรุงเทพฯ ราว 50 คน และได้รับสถานะเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้เนื่องจากภาครัฐเล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทในการลงทุนในประเทศและการพัฒนาฝีมือและความเชี่ยวชาญให้กับแรงงานในท้องถิ่น