ประสิทธิผลประเทศไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดีขึ้น ผลจากทั้ง 3 ภาคส่วนสามารถตอบสนอง/แก้ปัญหาได้ตรงความต้องการประชาชน
นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) แถลงข่าวผลการจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทยพลัส (Thailand Effectiveness Index Plus) ประจำไตรมาส 3 ปี 2561 ดัชนีดังกล่าวนำข้อมูลมาจากการสำรวจการรับรู้ (perception) ของประชาชนที่มีต่อการดำเนินงานใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยสุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 3,528 ตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ในภาพรวม ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทยพลัสไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ที่ 70.2% เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งพบว่าทั้ง 3 ภาคมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ภาคที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ โดยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2.0%, 1.3% และ 0.4% เป็นเท่ากับ 72.4%, 71.3% และ 66.9% ตามลำดับ
ประสิทธิผลด้านที่ได้คะแนนสูงสุดและเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นด้านเดียวกัน ได้แก่ การตอบสนองต่อประชาชน (responsiveness) โดยได้คะแนนอยู่ที่ 72.2 เพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากธุรกิจ/ร้านค้าส่วนใหญ่มีสินค้าและบริการตรงความต้องการของประชาชน รวมถึงองค์กรภาคประชาชนแก้ปัญหาตรงความต้องการของสังคม ทันต่อเหตุการณ์ และทำงานสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการช่วยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกรณีเด็กและผู้หญิงที่ถูกข่มขืน/ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และหน่วยงานภาครัฐทำงานตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็กและโค้ชที่ติดถ้ำทั้ง 13 คนได้อย่างปลอดภัย
ประสิทธิผลด้านที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดอันดับสอง คือ ความเป็นมืออาชีพ (professionalism) ได้คะแนนอยู่ที่ 70.9 เพิ่มขึ้น 1.6% เนื่องจากธุรกิจ/ร้านค้าส่วนใหญ่ปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจมากขึ้น รวมถึงองค์กรภาคประชาชนมีทักษะ ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญตรงกับงาน มุ่งมั่นทำงานจนกว่าจะสำเร็จอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ขณะที่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (efficiency) ได้คะแนนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด
ทั้งนี้ในภาพรวม ความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ตรงและทัศนคติของประชาชน แทนการได้รับข่าวสารมาอีกที โดยมีประชาชนร้อยละ 77.3 ที่มีความคิดเห็นดังกล่าว
สำหรับเรื่องที่ประชาชนเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐยังใช้เงินภาษีไม่ค่อยคุ้มค่าเมื่อเทียบกับบริการที่ประชาชนได้รับ ปัญหาด้านการคอร์รัปชัน และมีการทำงานผิดพลาด อาทิ ปัญหาเรื่องระบบ TCAS ภาคเอกชนไม่ได้ช่วยกระตุ้นเตือนและเชิญชวนให้คนในสังคมรับรู้และร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญของชุมชนหรือประเทศ อาทิ กรณีเรือล่มที่ภูเก็ตซึ่งทราบก่อนว่าจะต้องเผชิญฝนตกหนักและคลื่นลมแรง และปัญหาสินค้าที่ไม่สะอาด/มีสารปนเปื้อน