ประธานอาวุโสเครือซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” และผู้นำของทุกภาคส่วนในระดับโลก เตรียมขึ้นเวที “2019 Forum for World Education” ที่กรุงปารีส 3 – 4 ธ.ค.นี้ หวังขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะเป็นพลังเสริมสร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่ง ขณะที่ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD จะประกาศผลสอบ PISA ของนักเรียนทั่วโลกบนเวทีนี้ด้วย
ในระหว่าง วันที่ 3-4 ธันวาคม 2562 นี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จะจัดการประชุมเพื่อการศึกษาโลก 2019 หรือ “2019 Forum for World Education” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความเห็นในการออกแบบ “รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า” โดยตั้งเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นพลังเสริมสร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่ง
ในโอกาสนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว พร้อมกับนักธุรกิจชั้นนำที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา อาทิ นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป นายเดวิด ครุกแชงก์ ประธานบริษัท ดีลอยท์ แห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังได้เชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากหลายประเทศ นักวางแผนด้านนโยบายสาธารณะ และนักวิชาการนานาชาติ เข้าร่วมด้วย อาทิ Olli-Pekka Heinonen จาก Finland , Hekia Parata จาก New Zealand, Maria Helena Guimarães de Castro จาก Brazil, Dr.Eric Hanushek จาก Stanford University , Dr. Oon Seng Tan จาก Singapore , Dr. Christoph Metzger จาก University of St. Gallen in Switzerland , Dr. A. Lin Goodwin, คณบดีคณะศึกษาศาสตร์จาก the University of Hong Kong และ Dr. Pam Grossman คณบดีGraduate School of Education จาก the University of Pennsylvania เป็นต้น โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก เจ้าหญิงลอเรนทีนแห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดงานประชุม พร้อมด้วย นาย Ángel Gurría เลขาธิการ OECD และ Andreas Schleicher ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะของ OECD ผู้ริเร่มการสอบ PISA ร่วมเปิดการประชุม
ทั้งนี้ OECD หวังให้การประชุมนี้เป็นเวทีที่ผู้นำในภาคธุรกิจชั้นนำระดับโลกจะได้ร่วมพูดคุยกับเหล่าผู้นำและคนรุ่นใหม่พร้อมแลกเปลี่ยนถึงรูปแบบการเรียนรู้ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมว่ามีจุดใดที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนให้การศึกษาสู่อนาคตเป็นไปได้อย่างแท้จริงผ่านการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ มีการแบ่งกลุ่มเสวนาย่อยเพื่อรวบรวมแนวคิดใหม่ๆที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังในระบบการศึกษา และประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนในอนาคต อาทิ ความเสี่ยงทางสังคมด้านต่างๆ ความไม่เท่าเทียม ความขัดแย้งภายในสังคม นอกจากนี้จะได้หารือถึงประเด็นที่ท้าทายต่อวงการศึกษา อาทิ การนำเทคโนโลยีในอนาคตที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา ทั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) ว่าสามารถช่วยสร้างความเข้มแข็งให้สังคมหรือมีจุดใดที่เปราะบางต่อสังคม รวมทั้งการศึกษาจะเชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง สามารถยกระดับการศึกษาให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาสผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้ประกอบการธุรกิจได้อย่างไร รวมทั้งรูปแบบการศึกษาแบบไหนที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันทลายกำแพงปัญหาเดิม เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ที่มีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาเร่งด่วนร่วมกัน
“Forum for World Education” หรือ FWE เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดตัวองค์กรในปีนี้ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษากับการทำงานให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอมุมมองด้านธุรกิจต่อการจัดการศึกษาเพื่อช่วยขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจัด “2019 Forum for World Education” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อมุ่งเน้นสร้างแพลทฟอร์มที่ครบวงจรในการนำเสนอมุมมองของผู้นำทางธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อพูดคุยและอภิปรายถึงการจัดการศึกษา ซึ่งหัวใจสำคัญของ FWE คือภารกิจที่จะสร้างการเติบโตและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ , คุณภาพของแรงงานในประเทศ , โอกาสในการจ้างงานในโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญในเวทีนี้คือ OECD จะเผยแพร่ผลสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ล่าสุด ในช่วงการจัดประชุม 2019 Forum for World Education ครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ การสอบ PISA เป็นการสอบเพื่อใช้วัดระดับการเรียนรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก ใน 3 วิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน จัดสอบทุก 3 ปี และดำเนินการต่อเนื่องมา 15 ปีแล้ว การสอบ PISA ขึ้นชื่อว่าเป็นการทดสอบที่มีมาตรฐานสูง และผลสอบ PISA มักถูกใช้ในการเปรียบเทียบระดับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนแต่ละประเทศ