ประกาศผล “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ครั้งที่ 18 สร้างพลังเปลี่ยนโลก ผ่าน “วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า”
ในยุคที่ความเจริญและการพัฒนาเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่มีบุคคล และกลุ่มบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้ทำได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของธรรมชาติ ที่แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ก็เป็นพลังที่ทรงคุณค่า
สถาบันลูกโลกสีเขียว จึงได้จัด พิธีประกาศผลและมอบรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ครั้งที่ 18 เพื่อร่วมยกย่อง เชิดชู บุคคล กลุ่มบุคคล ที่ทำงานทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การประกวดในหัวข้อ“วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า” เพื่อเป็น “พลังเปลี่ยนโลก”
นางศรีสุรางค์ มาศศิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า ตลอด 20 ปีของการดำเนินงาน “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ได้เชิดชูชุมชนที่มีการจัดทำป่าชุมชน คิดเป็นจำนวนกว่า 2.4 แสนไร่ ชุมชนเหล่านี้ยังร่วมบริหารจัดการป่าในพื้นที่เขตอนุรักษ์กว่า 1.8 ล้านไร่ ในขณะที่กรมป่าไม้ระบุว่า มีชุมชนกว่า 8,000 หมู่บ้านจัดทำป่าชุมชน รวมเป็นเนื้อที่กว่า 3.2 ล้านไร่ทั่วประเทศ
ภายใต้การสนับสนุนของ ปตท. สถาบันลูกโลกสีเขียว ได้เพิ่มภารกิจในการทำงานนอกเหนือจากยกย่องให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำความดี โดยการจัดการความรู้เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย การจัดเวทีเครือข่ายลูกโลกสีเขียว ในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ตลอดจนหยิบยกประเด็นที่เป็นสภาพปัญหาในแต่ละภูมิภาคมาสร้างกิจกรรมเพื่อให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน สามารถตั้งรับปรับสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 18 ในประเภทบุคคลอย่าง นายสมหมาย ชลสินธุ์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการขนานนามเป็นมือปราบแห่งเมืองสิชล ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า ตนเองรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งทั้งชีวิตการทำงานตนได้ทุ่มเทให้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยปกป้องรักษาระบบนิเวศทั้งป่าและน้ำให้แก่คนในชุมชน โดยเริ่มจากการกวาดล้างแหล่งลักลอบปลูกกัญชาแหล่งใหญ่บนเขาหลวงและเขาพลายดำ ร่วมปราบปรามผู้บุกรุกป่าจนส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ทั้งยังร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จัดตั้งสถานีและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า และการป้องกันเรื่องอวดลากอวดรุนลุกล้ำเขตทะเลหน้าบ้าน เพราะทะเลเปรียบเสมือนบ้านของคนในชุมชน จึงอยากที่จะรักษาทะเลเพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับชุมชนเพื่อฟื้นป่าชายเลนจำนวน 1,000 ไร่ เพื่อพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนให้กลับมามีชีวิต และเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติแก่คนในชุมชน
“ผมทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากว่า 30 ปี เจอปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ผมก็ไม่เคยหยุดที่จะอนุรักษ์ เพื่อให้ลูกหลาน หรือคนในชุมชนของเรา ได้มีผืนป่าและแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ จึงอยากฝากให้ทุกคน รวมถึงชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อมกันต่อไป เพราะหากเราหยุดที่จะอนุรักษ์ ป่าไม้ก็จะหมดไป” นายสมหมาย กล่าว
ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลประเภทชุมชนอย่าง สมาคมคืนรากแก้วสู่ดิน จ.จันทบุรี โดยนายพัศพงค์ ชินอุดมพงศ์ นายกสมาคมคืนรากแก้วสู่ดิน ได้บอกเล่าถึงการได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า เครือข่ายคืนรากแก้วสู่ดิน นับเป็นความภาคภูมิใจของชาว จ.จันทบุรี เป็นกลุ่มการรวมตัวกันของคนจันทบุรีที่รักบ้านเกิด รักต้นไม้ และปลูกไม้ยืนต้นที่มีรากแก้วไว้บนที่ดิน ของตนเอง และเมืองจันทบุรี เป็นเมืองสีเขียว มีผลไม้มากมาย แต่เมืองจันทบุรีจะประสบภัยแล้งอยู่เป็นประจำ เนื่องจากพืชเหล่านี้ไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นของน้ำไว้ได้ ต่อมาได้มีการชักชวนกันมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำกิจกรรม เช่น การฟื้นฟูป่าบก ป่าชายเลน การปลูกป่าทดแทน รวมไปถึงสร้างการตื่นตัวในสังคม ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ในโรงเรียน และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้สังคมเล็งเห็นคุณค่าของต้นไม้ที่มีรากแก้ว ที่ถือเป็นสิ่งที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนแผ่นดิน
“กว่า 20 ปีของการดำเนินงานเครือข่ายคืนรากแก้วสู่ดิน ได้ฟื้นฟูคืนความสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า และแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ จนเป็นแบบอย่างของความสำเร็จในเชิงบูรณาการ ซึ่งหลังจากนี้จะยังคงเดินหน้าทำหน้าที่สร้างรากแก้ว เพื่อหยั่งลึกสู่ใจคนต่อไป” นายพัศพงค์ กล่าว
ปิดท้ายที่เยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวอย่าง น้องอาร์ต นายธนภัทร ขำเอนก ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนดอนโจร จ.บุรีรัมย์ ที่ได้รับรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต ในครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่า ตนสมัครเป็นเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์ป่าในชุมชนร่วมกับเพื่อนๆ เพราะเราเติบโตกับป่าแห่งนี้ และอยากที่จะดูแลรักษาผืนป่านี้เอาไว้ โดยป่าดอนโจรนั้น เป็นผืนป่าที่ผ่านการทำสัมปทานมาหลายครั้ง แต่ทุกคนในชุมชนก็สามารถร่วมกันฟื้นฟูด้วยความเข้าใจธรรมชาติ โดยใช้องค์ความรู้พื้นที่บ้านในการจัดการป่า และรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เพื่อฟื้นระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังได้จัดทำแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้มลิง หรือฝายกันน้ำในที่ดอนเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ป่าตอนฤดูแล้ง และยังได้ขุดแนวคลองรอบป่าเพื่อกำหนดแนวเขตป่าให้ชัดเจน อีกทั้งทางชุมชนยังได้จัดตั้งสถานีเรียนรู้ในป่า 12 สถานี โดยจะแบ่งตามถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกของเยาวชนในหมู่บ้านให้รู้ถึงคุณค่าของป่าอยู่เสมอ
“ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ จะสามารถเป็นพลังต่อไปในการอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ได้ เพื่อให้ทรัพยากรต่างๆยังคงอยู่และจะทำอย่างไรให้คนในชุมชน สามารถใช้ประโยชน์จากป่า และเข้าใจป่าให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ตนเองกำลังศึกษาด้านการแพทย์ทางเลือก เพื่อแตกยอดความรู้เรื่องสมุนไพร มาสอนคนในชุมชน และยังมีเพื่อนๆ ในกลุ่มอาสาที่เรียนด้านวนศาสตร์ ก็เพื่อจะนำความรู้มาช่วยบริหารจัดการในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และช่วยกันทำให้ป่าดอนโจนเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ” น้องอาร์ต กล่าว
ถือเป็น “พลัง”ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่แม้จะมาจากจุดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจกันของทุกคน ที่จะยืนหยัดทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อสร้าง “พลัง” ที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน